2 กระทรวงลงนามบันทึกข้อตกลงส่งเสริมนวัตกรรมพลังงานทดแทน
ผอ.สนพ. ย้ำชัดปี 2565 จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 20 โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล มีการส่งเสริมให้นำมาใช้สูงสุด คิดเป็นร้อยละ 44 และตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3700 เมกะวัตต์
วันนี้ (25 ก.พ.) ว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือและส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน” ระหว่างสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม เอ โซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง“ความร่วมมือและส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน” ในครั้งนี้ถือเป็นเกียรติในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยของกระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ร่วมมือกันทำสิ่งดีๆให้กับประเทศ โดยเฉพาะกับชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มีความตั้งใจจะให้มี PPP หรือความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนบูรณาการให้เกิดขึ้นให้มากที่สุดเพื่อเป็นธุรกิจในการสร้างงานเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนธุรกิจในประเทศไทยให้เป็น Creative Economy กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การประยุกต์ใช้ที่มีผลทางเศรษฐกิจสังคมให้กับประเทศไทยทุกภาค และเชื่อว่าผลของความสำเร็จจากความร่วมมือนี้ จะตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันนำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้
ขณะที่นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บ้านเมืองในขณะนี้ได้รับแรงกดดันหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน ราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุดก็คือการพลังงานคอนชั่นนิวที่ใช้ในปัจจุบันจะหมดสิ้นไปในอนาคตด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสวงหาทางออกให้กับประเทศ ทางออกที่สำคัญก็คือ เราต้องพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีอยู่เพื่อการนำมาใช้ทุกรูปแบบเท่าที่เราจะสามารถทำได้ ขณะเดียวกันเราต้องใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุดอย่างพอเพียงในวันนี้ให้ยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับแผนงานทดแทน 15 ปี ที่มุ่งให้ประเทศไทยใช้พลังงานหลักของประเทศแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงเนื่องจากเป็นพลังงานที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานเพื่อให้ทุกคนนั้นสามารถที่จะดำเนินชีวิต และพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และยั่งยืน
ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ ปี 2538 สนพ. ได้ดำเนินการส่งเสริมการวิจัยด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากชีวมวลคือหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ให้ทุนการสนับสนุนศึกษาวิจัย โดยเปิดให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ ตลอดจนองค์กรต่างๆ ร่วมดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนที่มีความเหมาะสมและสอดรับกับนโยบายพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 20 ในปี 2565 โดยพลังงานทดแทนที่มีการส่งเสริมที่นำมาใช้มากที่สุด จะเห็นได้ว่าพลังงานชีวมวลคือพลังงานทดแทนที่มีการส่งเสริมให้นำมาใช้สูงสุด คิดเป็นร้อยละ 44 โดยตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3700 เมกะวัตต์ ในปี 2565 และมีความร้อนเกิดขึ้นด้วยประมาณ 6760 พันตัน
"ยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนจากชีวมวล 15 ปีจากกระทรวงพลังงาน คือการพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าและก็ความร้อนในอุตสาหกรรมระดับกลาง ระดับเล็กแล้วก็ระดับชุมชน กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาทางสำนักงานก็ได้ดำเนินการทางยุทธศาสตร์โดยให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยผ่านสถาบันการศึกษาต่างๆได้แก่การพัฒนาแก๊สชีวภาพระดับชุมชน การสาธิตการใช้แก๊สซิไฟเออร์ผลิตความร้อนสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นต้น”
ส่วนดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือฯ นี้ คือ โครงการการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลในระดับชุมชน ด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลด้วยกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) เพื่อผลิตความร้อนทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) เป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ และอีกทางเลือกหนึ่งของก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ คือ การผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กหรือเล็กมากด้วยกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่นได้ เพราะก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์มีองค์ประกอบของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นหลักซึ่งเป็นก๊าซเชื้อเพลิงที่สามารถจุดระเบิดได้สำหรับเครื่องยนต์เผาไหม้ เพื่อผลิตเป็นไฟฟ้า