นักวิชาการตั้งวงถกไขข้อข้องใจอากาศ-ความแปรปรวน
ชี้การที่ประชาชนตื่นตัว มีข้อดีช่วยกระตุ้นให้สังคมเตรียมความพร้อมในการรับมือได้อย่างถี่ถ้วน แต่ต้องแยกแยะ อย่าหลงเชื่อคำทำนายหรือคำคาดการณ์บางอย่างที่น่ากลัวเกินความเป็นจริง
ดร.สมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาด้านบริหาร กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “ร้อนปนฝน เกิดอะไรขึ้นกับฤดูหนาวของไทยในปี 2553” จัดโดยศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย (Thai SMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆนี้ โดยได้วิเคราะห์สถานการณ์ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสภาพอากาศของประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่มีฝนตกในช่วงฤดูหนาวว่า เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ปกติ เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมายังตอนล่างสู่ประเทศไทยและบริเวณใกล้เคียง สภาพอากาศแบบนี้ แต่ละปีจะมีความหนักเบาแตกต่างกันไป
“ในปีนี้ถือว่ามีฝนตกหนักมากกว่าปกติโดยเฉพาะกทม. สาเหตุหากมองอย่างกว้างอาจมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ภูมิอากาศโลกแปรปรวน และทำให้โลกพยายามปรับสภาพเพื่อเข้าสู่ภาวะสมดุลด้วยตัวเอง ดังนั้นในบางพื้นที่จะมีฝนมาก บางแห่งน้อย หรือบางพื้นที่ร้อนมากหรือหนาวมาก เป็นต้น”ดร.สมชาย กล่าว
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ช่วงฤดูในประเทศไทยยังคงดำเนินไปตามปกติ เพียงแต่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate variability) ที่เกิดขึ้นในแต่ละฤดู มีความหนักเบาต่างกัน และหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังสูงขึ้น ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอาจมีแนวโน้มมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากโลกพยายามปรับสภาพให้เข้าสู่ภาวะสมดุล และอยากให้แยกให้ชัดเจนระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งตัวที่มีผลกับเราชัดเจนคือความผันแปรของสภาพภูมิอากาศไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 50 ปี รวมทั้งเราไม่สามารถนำข้อมูลปีนี้ไปบอกปีหน้าได้
กรณีคนกรุงเทพฯ บางครั้งอาจรู้สึกว่าหน้าหนาวไม่ค่อยหนาว หรือหนาวเป็นช่วงสั้นๆ ดร.สมชาย กล่าวว่า มาจากสภาพบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป กรุงเทพฯ มีการสร้างตึกขึ้นมากมาย สภาพอากาศจึงเปลี่ยนไป ดังนั้นจะให้กรุงเทพฯ หนาวแบบ 20 ปีก่อนคงเป็นไปไม่ได้ หากดูในต่างจังหวัดบริเวณที่ราบสูงบนยอดเขาหรือยอดดอย จะเห็นว่าช่วงหน้าหนาวอากาศยังคงหนาวอยู่ แต่กลางวันจะร้อนเพราะเมฆก้อนใหญ่ๆ ที่คอยบังแสงแดดมักจะไม่ค่อยมี
ส่วนการศึกษาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาด้านบริหาร กล่าวว่า การวิจัยศึกษาเรื่องนี้นั้นอย่างน้อยต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ใช้งบประมาณอย่างน้อยหลักร้อยล้านบาท และการใช้เวลา 10 ปี อาจเป็นเพียงการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ที่จะศึกษาว่าความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศนี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ และอย่างไร
ด้านดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วงหน้าหนาวมักมีฝนตกได้เป็นปกติอยู่แล้วเพราะความกดอากาศสูงตอนบนแผ่ลงมายังประเทศไทยทำให้เกิดอากาศเย็นพร้อมกับความชื้นสูงและเกิดฝนตก แต่สภาพอากาศของกรุงเทพฯ จะต่างจากที่อื่นเพราะสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน
ดร.สธน กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า เป็นเพราะจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากขึ้นด้วย ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลมากกว่าจากภาวะโลกร้อน ดังนั้นถ้าจะบอกว่าสภาพอากาศร้อนปนฝนในหน้าหนาวที่ผ่านมานี้จะมองเพียงในกรุงเทพฯ แห่งเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จะเห็นว่าปัจจัยสำคัญนั้นมาจากตัวแปรของจำนวนประชากรและการบริโภคพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกัน
ขณะที่ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการอิสระด้านวิทยาศาสตร์ และที่ปรึกษาวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ความแปรปรวนของภูมิอากาศมักจะถูกเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน เนื่องจากประชาชนและสื่อมวลชนต่างมีความตื่นตัวต่อผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนมากขึ้น จึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าเรื่องลม ฟ้า อากาศ หรือการเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ซึ่งข้อดีคือ เมื่อทุกคนตระหนักว่าภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาก็เท่ากับว่าเป็นการกระตุ้นให้สังคมเกิดการเตรียมความพร้อมในการรับมือได้อย่างถี่ถ้วน
“การที่ประชาชนไม่รู้หรือไม่เข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริงก็อาจนำไปสู่ภาวะความตื่นตระหนก หลงเชื่อคำทำนายหรือคำคาดการณ์บางอย่างที่น่ากลัวเกินความเป็นจริง และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ดังนั้นหากประชาชนมีความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้สามารถแยกแยะข้อมูลและคำแนะนำที่น่าเชื่อถือได้ อีกทั้งสามารถเตรียมรับมือได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อภัยต่างๆ ได้ด้วย”ดร.บัญชา กล่าว