เปิดเวทีชี้แจง-รับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล)
“อานันท์ ปันยารชุน” ย้ำชัดการตั้งองค์การอิสระที่ทำตามขั้นตอนใช้เวลาเป็นปี ศก.ชาติเสียหายหนัก จึงจำเป็นต้องมีองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) เกิดขึ้นไปพลางก่อน ด้านศรีสุวรรณ จรรยา หวั่นการได้มาซึ่งองค์การอิสระ ซ้ำรอยสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีการฟ้องร้องกันนัว
วันนี้ (9 ก.พ.) นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการประสานงานการให้ความเห็นชอบขององค์การอิสระ เป็นประธานเปิดเวทีชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
นายอานันท์ กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายว่า สามารถนำเสนอเรื่องราวต่างๆได้ ว่า มาตรการที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง มีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยตั้งอยู่บน 4 ขา และทำเสร็จในระยะเวลาเพียง 2 เดือนครึ่ง แต่มีสิ่งที่ตกค้างต้องทำให้เกิดขึ้น คือ เรื่องขององค์การอิสระ ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ไม่สามารถจัดตั้งได้ โดยหารือกับกฤษฎีกาซึ่งได้เสนอให้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นชอบขององค์การอิสระหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ.2553 เพื่อให้มีองค์การอิสระ (เฉพาะกาล)
“การตั้งองค์การอิสระ ที่ทำตามขั้นตอนที่เคยยึดกันไว้จะต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา มีการยกร่าง ถามความเห็นกฤษฎีกา เสนอร่าง ผ่านขั้นตอนรัฐสภาอาจจะใช้เวลาหลายเดือน ความไม่แน่นอนตรงนี้ทำให้การปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองขาดไป และหากเราคอยให้มีองค์การอิสระ (ถาวร) อาจมีช่องว่างอีก 1 ปี ทุกอย่างจะชะงัก 64 โครงการที่ติดค้างอยู่ต้องหยุดลง รวมทั้งหลายสิบโครงการที่ยังอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติ ซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) เกิดขึ้น”
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการประสานงานฯ เกือบเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อความต่อเนื่อง เราเป็นผู้สร้าง ผู้ออกแบบ EIA HIA ออกแบบการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป (Public Hearing) ออกแบบองค์การอิสระ นอกจากตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) แล้ว ก็ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์การอิสระ (ถาวร) ไปยังรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลกำลังขอให้กฤษฎีกาช่วยดูอย่างเร่งด่วน เพื่อให้รัฐบาลนำร่างสู่รัฐสภา ก่อนตราเป็นกฎหมาย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องให้องค์ประกอบขององค์การอิสระ (เฉพาะกาล) สอดคล้องและไม่ขัดกับองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ขององค์การอิสระ (ถาวร) จะแตกต่างกันไม่ได้
“หน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการประสานงานฯ คือการดำเนินการให้ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทน สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพตกลงกันเอง ร่วมกันจัดตั้งเป็นองค์การอิสระ มีหน้าที่แค่สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือในการดำเนินการขององค์การอิสระให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”ประธานกรรมการประสานงานฯ กล่าว และว่า เมื่อเราเป็นผู้ออกแบบ ว่า องค์การอิสระ (ถาวร) จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จำเป็นต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบ รู้ความคิดสิ่งที่ได้ไตร่ตรองแล้วหลายเดือน เข้าใจในกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้
ขณะที่ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวถึงการประสานให้มีองค์การอิสระ โดยเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนการขึ้นรถไฟ และเชื่อว่า ขึ้นถูกขบวนรถไฟ “กำลังสร้างกติกาซื้อตั๋วที่ไหน ใครขึ้นได้บ้าง เดินทางอย่างไร สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ รวมทั้งองค์กรอิสระลูกข่าย ตามพื้นที่ ตามสาขา ตามประเด็น พื้นที่ไหนไม่รุนแรงก็ไม่ต้องมี ส่วนโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เรากำลังร่างกติกาสังคม เพื่อให้เดินหน้าไปด้วยกันได้แบบมีกติกา รู้ว่าอะไรต้องทำตามนี้ไม่ทำตามนี้
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน กล่าวถึงการได้มาซึ่งองค์การอิสระว่า กลัวจะซ้ำรอยกับกระบวนการที่ทำมาแล้ว เช่น การได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในที่สุดก็นำมาสู่ความขัดแย้งและฟ้องร้องกันหลายคดี เนื่องจากอาจมีการบล็อกโหวต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ
“เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดองค์การอิสระนั้น ไม่ใช่มีอำนาจ แค่ให้ความเห็นตามรัฐธรรมนูญ เป้าหมาย คือสร้างกระบวนการประชาชน คนที่มาอยู่ตรงนี้ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานกับประชาชนเหมือนเป็นนักกิจกรรมมากกว่าเป็นใครก็ได้มานั่ง นี่คือหัวใจสำคัญ”นายศรีสุวรรณ กล่าว และว่า การออกแบบที่ดีที่สุด คือการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เวทีครั้งนี้กลุ่มคนยังไม่เพียงพอ อาจทำให้ถูกคัดค้านได้ ซึ่งควรจะจัดเวทีแบบนี้กระจายไปทุกภูมิภาค รับฟังบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า การออกเป็นแค่ระเบียบสำนักนายกฯ อาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ฉะนั้นกฎหมายระดับรองควรเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตนเข้าใจระบบสังคมที่ถูกกดดันมาจากจากนักลงทุน แต่ระบบกฎหมายของประเทศก็มีลำดับชั้นการออกกฎหมายอยู่ การมารวบรัดตัดตอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ หรือทุน ทำให้ดูว่า การออกแบบกฎหมายของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับทุนเท่านั้นหรือระบอบทุนเท่านั้นหรือ และจะเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด