เกษตรฯ ฟิตตั้งอนุกก.ทำยุทธศาสตร์รับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร” ว่า เพื่อดูแลรับผิดชอบการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2553 – 2555 ของกระทรวงเกษตรฯ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พ.ศ.2551 – 2555 รวมถึงเตรียมรองรับการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อภาคเกษตร ดูแลรับผิดชอบการกำหนดทิศทางนโยบาย การกำหนดท่าทีการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย และพิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นชอบโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของกระทรวงเกษตรฯ โดยมีนางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพลังงาน กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมเป็นคณะกรรมการ
ด้านนายอภิชาต จงสกุล โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ว่า จะเร่งเดินหน้าดำเนินงานแบบบูรณาการ ตามแผนงานของโครงการรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ซึ่งมีระยะเวลา ตั้งแต่ปี 2553- 2557 เช่น โครงการลดการเผาพื้นที่เกษตรบนพื้นที่โล่งเตียน เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนให้ได้จำนวน 3 แสนไร่ในปี 2558 โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อระบบการผลิตสัตว์ที่ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมการปรับปรุงระบบชลประทาน และการจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรปี 2554 – 2557
“ทุกโครงการ มีความครอบคลุมเกี่ยวกับแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรทั้งด้านพืช สัตว์ ดิน และน้ำ รวมถึงมีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดจะเน้นการทำงานในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้ได้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง รวมถึงการปล่อยจากการใช้ปัจจัยการผลิต การใช้ที่ดิน การใช้น้ำ และวัสดุเหลือใช้ต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาให้ได้องค์ความรู้ในการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวในภาคเกษตรทุกส่วน จะส่งผลให้มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรที่เป็นระบบ ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพการผลิตของประเทศ ภาครัฐและเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการด้านการผลิต การค้าและการเจรจา นำไปสู่มาตรการและแนวทางการจัดการที่เหมาะสม”
โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในเวทีประชาคมโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และอาจถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางการส่งออก ในการที่จะกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซในสินค้าต่างๆ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน