องค์กรธุรกิจขานรับกระแส Green สนองพฤติกรรมผู้บริโภค
สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ฯ เผยทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2553 ชี้องค์กรธุรกิจขานรับกระแส Green สนองพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว “ทิศทาง และแนวโน้ม CSR ปี 2553 : Repositioning your CSR” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษกนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2553 ว่า จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายภาคส่วนต้องปรับตัว รับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน และการดำเนินงานที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการของธุรกิจที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาและดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาล จริยธรรมและคุณธรรม เพื่อสร้างรากฐานความเข้มแข็งของธุรกิจ ให้สามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมั่นคง
"ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรม CSR ในองค์กร โดยร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ผ่านโครงการ CSR Day ที่ช่วยสร้างความเข้าใจของการทำ CSR ที่ถูกต้อง ให้แก่พนักงาน โดยชี้ให้เห็นว่า CSR เป็นเรื่องของทุกกลุ่มคน และเป็นเรื่องที่ทำได้ทุกวัน ซึ่งในปี 2553 นี้ จะมีการต่อยอดจาก CSR ที่เข้มแข็งในองค์กรด้วยการเชื่อมโยงให้ เกิดการขับเคลื่อนการทำ CSR ร่วมกันในระดับองค์กรผ่าน CSR Club ภายใต้สมาคมบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายพลังจากภาคธุรกิจ ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมร่วมกับองค์กรพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ อย่างบูรณาการ"
ด้านนายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กล่าวว่า สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกนกลางประสานความเข้มแข็งจากภาคธุรกิจเชื่อมโยงการดำเนินงานควบคู่กับ ภาครัฐ และภาคสังคมอย่างบูรณาการ สถาบันฯ จะยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการภายในของธุรกิจ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน ทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลักดันการสร้างจิตสำนึกด้าน CSR และส่งเสริมองค์ความรู้ในหลากหลายบริบททางสังคม เพื่อให้องค์กรธุรกิจเกิดความตระหนักเข้าใจในการทำ CSR ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับองค์กร และสามารถเป็นผู้ดำเนินการได้เอง
ส่วนดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เผยผลการศึกษาทิศทางและแนวโน้มของ CSR ในปีนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 67 เรื่องกระแสสีเขียวอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรื่องความตกลงการเปิดเสรีทางการค้า ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจต้องพิจารณาทบทวนแนวการดำเนินงาน หรือการ Repositioning CSR ขององค์กร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทั้งโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
"กระแสเรื่องมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะ ISO 26000 ซึ่งมีกำหนดจะประกาศเป็นมาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ในปลายปี 2553 หลังจากการประชุมที่โคเปนเฮเก้น ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นตัวเร่งให้องค์กรธุรกิจโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ปรับกระบวนการทำงานให้เข้ากับมาตรฐานที่เกิดขึ้น"ผอ.สถาบันไทยพัฒน์ กล่าว และว่ามาตรฐาน ISO 26000 เป็นเพียงมาตรฐานข้อแนะนำ มิใช่มาตรฐานระบบการจัดการเพื่อใช้สำหรับการรับรอง (Certification) การเสนอให้มีการรับรอง หรือกล่าวอ้างว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 26000 จึงผิดไปจากเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรฐาน
ดร.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า การปรับจุดยืนในเรื่อง CSR เพื่อรับกับจุดปกติใหม่ (New Normal) จะต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างควบคู่กัน ทั้งในเรื่องขอบเขต (Scope) แนวนโยบาย (Platform) โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินงาน (Performance) ตัวชี้วัด (Measure) และการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) เพื่อสร้างสมให้เกิดเป็นคุณค่า CSR ขององค์กรที่สังคมตระหนักในระยะยาว