สนพ.เดินหน้าสร้างความเข้าใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
หลังพบปชช.เข้าใจในเรื่องนี้เพียง 20-30% รองผอ.สนพ. ระบุ การพึ่งพลังงานทดแทนที่มีเพียง 1.3% คงไม่พอ การรับซื้อไฟฟ้าจากภายนอกจำนวนมากกว่าที่ผลิตเองจะทำให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) กล่าวในการเสวนา “พลังงานนิวเคลียร์ : ความคุ้มค่าการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต” จัดโดยสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อเร็วๆนี้ ถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาเตรียมความพร้อมรองรับความเป็นไปได้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย
รองผอ.สนพ. กล่าวถึงแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 160,000 ล้านบาท ประมาณการบนฐานค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งเมกะวัตต์ อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้มีการกำหนดพื้นที่ศึกษาจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ควรต้องอยู่ใกล้แห่งพลังน้ำ เช่น แม่น้ำ หรือติดทะเล ต้องไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนเปลือกโลก ไม่เสี่ยงต่อการเกิดพายุ หรือสึนามิ พบพื้นที่ตอนกลางของประเทศบริเวณใกล้แม่น้ำและตอนใต้ฝั่งอ่าวไทย 14 แห่งจาก 6 จังหวัดมีศักยภาพในการสร้าง ซึ่งจะได้คัดเลือกเหลือ 3 แห่งต่อไป
“คาดว่า เดือนมี.ค. 2554 จะเสนอรายงานสรุปผลการศึกษาทั้งหมดต่อครม.ว่าจะตัดสินเดินหน้าดำเนินการต่อหรือไม่ การตัดสินของครม.ขึ้นอยู่กับการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยสพน.จะยึดหลัก คือ ความคุ้มค่า ความปลอดภัย และการยอมรับจากประชาชน และหากมีความเห็นชอบอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกก็จะเกิดขึ้นในปี 2563 ขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ และในปี 2564 อีก 1,000 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่าอยู่ในระดับใด”
นายชวลิต กล่าวอีกว่า ปีนี้สพน.กำลังอยู่ระหว่างการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาได้จัดเสวนาทำความเข้าใจกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ บ้างแล้วในเรื่องนี้ แต่พบว่าประชาชนมีความเข้าใจเพียง 20-30% เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ จึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการสร้างการยอมรับจากประชาชน
"การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นการลงทุนที่สูงมาก ดังนั้นเมื่อตัดสินใจเดินหน้าแล้วก็ควรจะเดินต่อไปไม่ใช่หยุดลง หรือถ้าไม่เดินหน้า ก็ต้องหาโรงไฟฟ้าแบบอื่นเพื่อหาพลังงานให้ประชาชนอย่างเพียงพอและมั่นคงต่อไป ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับจากประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ” รองผอ.สนพ. กล่าว และว่า ประเด็นปัญหาพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ไม่ใช่ต้นทุนการผลิตอย่างเดียว ปัญหาหลักอยู่ที่จะมีเชื้อเพลิงแบบใด ขนาดเท่าใดในการผลิตไฟฟ้า เพราะจะหวังพึ่งจากพลังงานทดแทนที่มีเพียง 1.3% คงไม่พอ กระทรวงพลังงานจึงต้องหาโรงไฟฟ้ารูปแบบอื่นมาทดแทนไม่ให้เกิดการขาดแคลน เช่น การรับซื้อจากเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการนำเข้า หรือหากประชาชนยอมรับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
รองผอ.สนพ. กล่าวด้วยว่า ไทยไม่ควรซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศประเทศเดียวเกิน 13% จากสองประเทศ 26% หรือจากสามประเทศต้องไม่เกิน 33% การรับซื้อไฟฟ้าจากภายนอกจำนวนมากกว่าที่ผลิตเองทำให้เกิดความเสี่ยงในอนาคตได้ ถ้าความเสี่ยงมากขึ้นอาจทำให้ต้องเพิ่มการสำรองไฟฟ้ามากขึ้นตามมา และจะกระทบภาคการผลิต ดูได้จากปี 2552 ไทยได้นำเข้าพลังงานมูลค่า 765,000 ล้านบาท