สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีคนแรกกับรางวัลโนเบลด้านการอนุรักษ์
WWF มอบรางวัล J.Paul Getty Award for Conservation Leadership 2009 ให้แก่ สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทส. ในฐานะที่มีผลงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (27 ม.ค.) ว่า ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม มีรัฐมนตรีและตัวแทนรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชีย 13 ประเทศ รวมทั้งประเทศรัสเซีย และตัวแทนจากองค์การพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)ด้านการอนุรักษ์เสือจากภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วม โดยมีธนาคารโลก สนับสนุนการประชุมนายโรเบิร์ต โซเอลลิค ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า ทุกภูมิภาคทั่วโลกไม่มีเวลาเหลือสำหรับการปล่อยให้ปริมาณเสือลดลงเรื่อยๆเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป หลังจากมีการสำรวจพบว่าปริมาณเสือและเสือโครงจากทั่วโลกลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 ถือเป็นปีที่ปริมาณเสือโคร่งลดลงไปมาก หลายประเทศจึงต้องหาทางคุยกันในเรื่องนี้ โดยเมื่อเดือนเมษายนปี 2009 เคยมีการคุยเรื่องการอนุรักษ์เสือกันที่เมืองพัทยา จากข้อมูลที่ได้รับเวลานั้น ทำให้รัฐบาลของประเทศที่มีเสือในป่าของตัวเองต้องตระหนักว่าจะอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป
“ปีนี้เราทุกคนทั่วโลกถือว่าเป็นปีเสือร่วมกัน เราจำเป็นต้องทำให้เป็นปีของเขาจริงๆโดยการเพิ่มปริมาณ อนุรักษ์ และคุ้มครอง หยุดล่า และสร้างความร่วมมือในการลดปริมาณความต้องการเสือในท้องตลาด เราต้องทำให้เสือโคร่งเพิ่มปริมาณให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ภายในปี ค.ศ.2020 เพราะเสือเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดว่าระบบนิเวศของพื้นที่นั้นๆเป็นอย่างไร เราดีใจมากที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูลและความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การประชุมระดับผู้นำของโลกและประเทศที่มีเสือในป่า ที่ประเทศรัสเซีย ในเดือนกันยายนปีนี้”นายโรเบิร์ต กล่าว
ด้านนายไมเคิ่ล บอลเซอร์ หัวหน้างานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งกองทุนสัตว์ป่าโลก( WWF) กล่าวว่า WWF จะมอบรางวัล J.Paul Getty Award for Conservation Leadership 2009 ให้แก่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่มีผลงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทย และในระ ดับโลก เช่น การกู้ภัยพิบัติคลื่นสินามิ นโยบายยกเลิกสัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลน การริเริ่มตั้งศูนย์แก้ปัญหาการบุกป่า ตลอดจนงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า การตั้งเครือข่ายป้องกันลักลอบค้าสัตว์ป่าอาเซียน รวมทั้งงานแก้เชื่อมผืนป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งคนกับสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ ถือเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว และเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้คนแรกที่ได้รับคือ นพ.บุญส่ง เลขะกุล ได้รับรางวัลนี้ เมื่อปี 2522 หรือกว่า 30 ปี พิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการภายในเดือนกุมภาพันธ์ นี้
ขณะที่นายสุวิทย์ กล่าวถึงการได้รับรางวัลดังกล่าวว่า รางวัลนี้จะได้รับเงิน 2 แสนเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งตนจะนำไปเป็นทุนการศึกษาให้นักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในสถาบันการศึกษาต่างๆที่ศึกษาเรื่องการอนุรักษ์ เพราะทุนการศึกษาด้านนี้ยังไม่มากนัก โดยความสำเร็จในการทำงานด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มาจากตนคนเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ นักอนุรักษ์ เอ็นจีโอ และชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งสิ่งที่ทำมาก็ไม่เคยคิดว่าจะได้รางวัล แต่ถือเป็นกำลังใจที่จะต้องทำงานหนักมากขึ้น
นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า เรื่องหนึ่งซึ่งที่ประชุมครั้งนี้จะให้ความสำคัญ นอกเหนือการเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยให้เสือ คือ การลดความต้องการชิ้นส่วนต่างๆของเสือในตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจว่าชิ้นส่วน อวัยวะต่างๆของเสือ ไม่มีคุณสมบัติทางยา หรือเป็นอาหารบำรุงร่างกายอะไรทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามความต้องการสิ่งเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตที่ต่ำลง เพราะเสือถือเป็นจุดสูงสุดของบ่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ
“ต้องยอมรับว่า ความต้องการบริโภคเสือเพื่อเป็นยาโป๊ว ยาชูกำลัง หรืออาหารเสริม ที่ทำจากร่างกายอวัยวะของเสือ ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณเสือลดลง ผมมีแนวคิดว่า เราจะน่าบรรจุความรู้เรื่องนี้ลงไปในบทเรียนเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือสร้างเสริมประสบการชีวิต ให้นักเรียน นักศึกษาทราบว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความเชื่อและการเข้าใจผิด ไม่ใช่เรื่องจริง ต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่เชื่อตามแนวทางของคนรุ่นเก่าอีกต่อไป”นายสุวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรางวัล J. Paul Getty Award for Conservation Leadership มีมาตั้งแต่ปี 1983 โดยประธานธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา ได้เปรียบเทียบรางวัลนี้ว่าเป็นรางวัลโนเบลด้านการอนุรักษ์ สำหรับบุคคลสำคัญที่เคยได้รางวัลนี้มาแล้ว ประกอบด้วย สมเด็จพระมหาราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตร์ย์ของประเทศภูฎาน ก็เคยได้รับการถวายรางวัลนี้ในปี 2006 หรือปี 2550