วช.หนุนพลังงาน“น้ำ ลม ชีวมวล” อนาคตรุ่งโรจน์
เตรียมรับวิกฤติพลังงาน ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ระบุทางรอดควรหาแหล่งพลังงานจากหลายแหล่งโดยเฉพาะที่มีอยู่ในประเทศนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง “แนวทางการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนของประเทศไทย ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทน และลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความต้องการใช้พลังงานของประเทศว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากพลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่เป็นเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ต้องมีการเผาไหม้ อาทิ น้ำมันถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับกับวิกฤตพลังงาน โดยต้องมีการหาแหล่งพลังงานจากหลายแห่ง เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานที่มีอยู่ในประเทศควรนำออกมาใช้ให้ประโยชน์สูงสุด ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานเอทานอล ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้
“ปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ละปีประเทศไทยจะนำเข้าเชื้อเพลิงในอัตราที่สูงขึ้น ต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ นอกจากนี้ปัญหาโลกร้อน ทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนพยายามที่จะพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อทดแทนพลังงานที่ต้องนำเข้า”ศ.ดร. ธีระกล่าว
ด้านศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงพลังงานทดแทนของประเทศไทย โดยฉายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในประเทศต้องอาศัยพลังงานจากถ่านหินลิกไนท์ 20 % และก๊าซธรรมชาติ 70 % พลังงานน้ำ (Hydro Energy) 7 % และชีวมวล (biomass) และอื่นๆ อีก 3 % ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ส่วนหนึ่งต้องแบ่งให้ไปใช้ในภาคการคมนาคมขนส่ง นอกจากการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่มีพลังงานเหลือพอสำหรับการใช้ในทุกภาคส่วน
“การใช้พลังงานน้ำ และพลังงานลม โดยการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะประเทศไทยยังมีศักยภาพมากพอ ในเรื่องของน้ำและลมที่มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น ภาคเหนือ มีป่าต้นน้ำลำธาร ภาคใต้ มีน้ำตกกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ดังนั้นควรต้องเน้นการสร้างโรงไฟฟ้าจากท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วม และนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ” ศ.ดร.ปรีดา กล่าว
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวอีกว่า การผลิตไฟฟ้าจากโรงงานขนาดเล็กยังคงมีความจำเป็นอย่างมาก มากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนพลังงานลมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานได้ สำหรับนิวเคลียร์ยังต้องสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่อีกมาก ขณะที่รัฐบาลก็ยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้ให้เป็นวาระเร่งด่วน
“ที่สำคัญหากมีการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ ต้องรอคิวการนำเข้าพลังงานชนิดนี้จากต่างประเทศถึงปี 2025 กว่าจะได้ใช้จริงคือในปี 2026 เนื่องจากกลุ่มอย่างประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มีความต้องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า”ศ.ดร.ปรีดา กล่าว และว่า ระหว่างนี้ พลังงานที่จะใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ก็คือ พลังงานชีวมวล น้ำ หรือ ลม ที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญ เป็นพลังงานทดแทนก่อนที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในอนาคต