ก่อนใช้พลังงานนิวเคลียร์ เอ็นจีโอแนะปฏิรูปแนวคิดการจัดการพลังงานเสียใหม่
นิวเคลียร์ พลังงานทางเลือกที่ยังถกเถียงกันไม่จบ ผอ.สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ยันต้องให้เวลากับประชาชนในการตัดสินใจ ขณะที่นายกสมาคมนิวเคลียร์ฯ เปิด 14 พื้นที่มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้า
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวเปิดการเสวนาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ : กับบทบาทการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศไทย จัดโดยกระทรวงพลังงานร่วมกับสมาคมสร้างสรรชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องหาพลังงานใหม่ๆ มาทดแทนก๊าซธรรมชาติ
รองผอ.สนพ. กล่าวถึงความจำเป็นต้องหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ ว่า ในระยะเวลาอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงของพลังงานเชื้อเพลิงจะมีราคาสูง ต่อไปการสำรองเชื้อเพลิงภายในประเทศจะอยู่ในระดับที่จำกัด โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมีไม่เพียงพอในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น เราต้องหาพลังงานที่จะมาทดแทนก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งพลังงานนั้นต้องช่วยแก้ไขปัญหาภาวะเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนด้วย
“พลังงานนิวเคลียร์ ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้นำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ และสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เพราะสามารถช่วยแก้ไขวิกฤตพลังงานได้ดี ราคาไม่แพง และสามารถนำมาผลิตพลังงานได้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพลังงานถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ”
ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น นายชวลิต กล่าวว่า เรามีแผนสำหรับการดำเนินการต่างๆ จากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และตัดสินใจว่าจะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และนำเสนอต่อสำนักนโนบายและแผนฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและคณะรัฐมนตรีเป็นกรรมการ ส่วนขั้นตอนต่อไปก็จะนำไปพัฒนาด้านบุคลากร เตรียมการทางด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โจทย์ที่เป็นการบ้าน คือ จะต้องเพิ่มขั้นตอนเกี่ยวกับทางด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะควาปลอดภัยเรื่องรังสี ก่อนดำเนินการก่อสร้างในปี 2557 ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 16 ปี แล้วเสร็จในปี 2573 และในปี 2554 กฟผ.ดำเนินการศึกษา เป็นเวลา 18 เดือน จ้างทีมที่ปรึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นพี่เลี้ยง”
ด้านนายปรีชา การสุทธิ์ นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงพื้นที่ที่มีการสำรวจพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ว่า มีศักยภาพอยู่ 14 แห่ง ในเขตหลายจังหวัด เช่น ชัยนาท นครสวรรค์ ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น สถานที่ทั้งหมดจะคัดเลือกให้เหลือ 3 แห่ง เพื่อทำการสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ จะตั้งให้ห่างจากชุมชน เพื่อลดปัญหาของคนในชุมชน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดน้อยที่สุด
“เหตุผลสำคัญ 4 ข้อหลักของการคิดใช้พลังงานนิวเคลียร์ คือ 1.ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ที่แทบจะไม่มีเลย เนื่องจากพลังงานทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย คือ ก๊าซธรรมชาติ เราเอามาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า นับวันก็จะหมดไป และไม่มีสำรอง 2.แรงกดดันจากภาวะโลกร้อน การใช้พลังงานอย่างอื่นนั้น มีผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว และ3.การรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานและแข่งขันในระยะยาว ราคาก๊าซธรรมชาติผันผวนมากขึ้น ทำให้การผลิตราคาสูงขึ้นตาม ไม่มีความมั่นคงในเรื่องของราคาพลังงาน และ 4.ควรสงวนก๊าซในอ่าวไทย เพื่อประโยชน์ในด้านอื่น”
ขณะที่นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ACED) กล่าวว่า แม้พลังงานนิวเคลียร์ จะเป็นพลังงานสะอาด อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ที่จะสามารถใช้ทดแทนพลังงานทางเลือกอื่นได้ดีกว่าการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานจากถ่านหิน หรือพลังงานจากชีวมวล แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องให้เวลากับประชาชนในการตัดสินใจว่า ควรที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยหรือไม่ และควรที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างพลังงานใหม่เช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมุนไปเหลือเพียงกากขยะ ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริง ในระยะยาวอาจส่งผลการเกิดปัญหาทั้งเรื่องความปลอดภัยในการผลิต สงคราม/อาวุธนิวเคลียร์ การจัดการขยะนิวเคลียร์ และเกิดความไม่เป็นธรรม
นายเทวินฏฐ์ กล่าวด้วยว่า จริงอยู่ที่พลังงานของประเทศตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต แต่ในประเทศไทย ยังคงมีพลังงานอีกหลายอย่างที่เหลืออยู่ และยังไม่นำออกมาใช้ทั้งหมด รวมทั้งการขาดองค์ความรู้ที่จะพัฒนาพลังงานเดิมให้มีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและดีขึ้น “เราต้องเสียเงินในการซื้อพลังงานจากต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเสียเงินในการซื้อสุขภาพและจิตวิทยา ของประชาชนในสังคม ร่วมด้วย เป็นการซื้อ 2 ต่อ ถือว่าไม่คุ้ม ดังนั้น หากเราจะรีบทำก็ควรปฏิรูปแนวคิดในการจัดการพลังงานเสียใหม่ นอกจากรัฐบาล กฟผ.และกฟภ. จะมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้ว คือ ควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดเห็นด้วยน่าจะเกิดผลดียิ่งขึ้น"
ดาวน์โหลดเอกสาร
การจัดเสวนาพลังงานนิวเคลียร์ : กับบทบาทการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศไทย
โดย สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.)
ร่วมกับ สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (สชล.)
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2553 เวลา 13.00 - 16.00 น.
เอกสารนำเสนอ “ ความพร้อมของประเทศไทย กับการใช้พลังงานนิวเคลียร์” โดย ปรีชา การสุทธิ์
นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านเทคนิคและความปลอดภัยนิวเคลียร์ สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน
เอกสารนำเสนอ แนวคิด แนวทางการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย
ผู้อำนวยการ สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม Association for Community and Ecology Development(ACED)