เปิดผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2253 พิจารณาแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ เทศบาลเมืองมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง
วันนี้ (22 ม.ค.) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2253 โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
วาระเพื่อพิจารณา เรื่อง แผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ เทศบาลเมืองมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง
สาระสำคัญของเรื่อง ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 เรื่อง กำหนดให้ท้องที่เขต ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ และ ต.ทับมา อ.เมือง ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา และ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ทั้งตำบล รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 มีมติเห็นชอบให้ใช้อำนาจประกาศให้ท้องที่เขต ทม.มาบตาพุดและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้ อปท.ในท้องที่ที่ได้ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และดำเนินการตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
จังหวัดระยอง ส่งแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง จำนวน 523 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 13,013.82 ล้านบาท เสนอมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 สำนักงานฯ จัดประชุมคณะทำงานด้านเทคนิควิชาการ (ภายใต้คณะอนุกรรมการกำกับการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด) ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 พิจารณาแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ยังมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 59 และ 60 จึงได้แจ้งให้จังหวัดระยอง ปรับแก้ไขให้ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อเสนอคณะทำงานฯ อีกครั้งก่อนเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาต่อไป
จังหวัดระยอง ส่งแผนปฏิบัติการฯ ฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 โดยคัดเลือกโครงการที่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในเขตควบคุมมลพิษ จำนวน 16 โครงการ จากแผนเดิม 523 โครงการ ขอรับงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 395.35 ล้านบาท แยกเป็น 1) ปีงบประมาณ 53 ดำเนินการ 16 โครงการ 250.35 ล้านบาท 2) ปีงบประมาณ 54 ดำเนินการ 3 โครงการต่อเนื่อง 116 ล้านบาท 3) ปีงบประมาณ 55 ดำเนินการ 1 โครงการต่อเนื่อง 29 ล้านบาท โดยดำเนินการตามมาตรการหลัก 3 ด้าน ได้แก่ มาตรการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน มาตรการด้านการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียง มาตรการด้านการฟื้นฟูและการเพิ่มขีดความสามารถและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะ
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552
- เห็นชอบในหลักการโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาของมาบตาพุดดำเนินการปี 53-55 รวม 5 โครงการ ได้แก่ 1)โครงการขนถ่ายขยะมูลฝอยออกจากบ่อฝังกลบขยะ 2)โครงการก่อสร้างขยายเขตจำหน่ายน้ำประปา พื้นที่ อ.เมืองระยอง 3) โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำ พื้นที่ ทม.มาบตาพุดและ ทม.บ้านฉาง 4) โครงการพัฒนาศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ และ 5) โครงการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังโรคของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ วงเงินรวม 877.031 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
- เห็นชอบให้ใช้เงินงบประมาณปี 53 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 405.236 ล้านบาท (โครงการก่อสร้างขยายเขตจำหน่ายน้ำประปา พื้นที่ อ.เมืองระยอง 134.541 ล้านบาท) (โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำพื้นที่ ทม.มาบตาพุดและ ทม.บ้านฉาง 173.188 ล้านบาท) (โครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ 73.278 ล้านบาท) ผูกพันงบประมาณปี 54-55 จำนวน 73.672 ล้านบาท และ 25.672 ล้านบาท ตามลำดับ และโครงการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังโรคของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ 24.228 ล้านบาท โดยให้การประปาส่วนภูมิภาคและ สป.สธ. ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกรณีมีโครงการที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งแจ้งว่าจะใช้เงินจำนวน 97.693 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอตั้งงบประมาณปี 54-55 ตามความจำเป็นตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการ ฯ
- แผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษฯ ฉบับแรก จำนวน 523 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (53-57) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่ม 1 โครงการที่สอดคล้องในการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษ 95 โครงการ วงเงิน 4,967.53 ล้านบาท (1) โครงการมลพิษด้านน้ำ 63 โครงการ วงเงิน 605.28 ล้านบาท (2) โครงการมลพิษด้านอากาศ 31 โครงการ วงเงิน 4,092.25 ล้านบาท (3) โครงการด้านขยะ 1 โครงการ วงเงิน 270 ล้านบาท (ได้รับงบผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้ว)
2) กลุ่ม 2 โครงการที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าสอดคล้องในการแก้ไขปัญหามลพิษ 257 โครงการ วงเงิน 3,436.03 ล้านบาท จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการโครงการ ต้องทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
3) กลุ่ม 3 โครงการที่ไม่มีความสอดคล้องในการแก้ไขปัญหามลพิษ 171 โครงการ วงเงิน 1,753.38 ล้านบาท
- แผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษฯ ฉบับแก้ไข เป็นแผนฉบับที่ จ.ระยอง ปรับปรุงแก้ไข จากฉบับแรก และจัดส่งมาให้พิจารณาใหม่ โดยคัดเลือกเป็นโครงการเร่งด่วน จำนวน 16 โครงการ รวม 395.36 ล้านบาท ซึ่งได้ระบุขอรับการสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ดังนี้
1. จัดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ วงเงิน 2 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.ระยอง 2. ตรวจวัดคุณภาพน้ำคลองน้ำหู วงเงิน 0.6 ล้านบาท หน่วยงาน ทต.เนินพระ 3.เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ วงเงิน 8 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.ระยอง 4.พัฒนาและสร้างเครือข่ายาสาสมัครรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ วงเงิน 1 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.ระยอง 5. เพิ่มศักยภาพบุคลากรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม วงเงิน 1 ล้านบาท หน่วยงาน ทสจ.ระยอง 6. อบรมอาสาสมัครชุมชนติดตามตรวจสอบมลพิษ วงเงิน 1 ล้านบาท หน่วยงาน ทสจ.ระยอง 7. ปรับปรุงซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสีย วงเงิน 50 ล้านบาท หน่วยงาน ทม.มาบตาพุด 8. ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย วงเงิน 139.56 ล้านบาท หน่วยงาน ทน.ระยอง 9. การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะ วงเงิน 0.2 ล้านบาท หน่วยงาน ทต.เนินพระ 10. ขุดลอกคลองบ้านฉางและคลองพูน วงเงิน 4.35 ล้านบาท หน่วยงาน ทต.บ้านฉาง
11. จัดซื้อเครื่องเติมออกซิเจนในแหล่งน้ำ วงเงิน 1 ล้านบาท หน่วยงาน ทต.เนินพระ 12. จัดซื้อเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่าย วงเงิน 0.2 ล้านบาท หน่วยงาน ทต.เนินพระ 13. เป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำตื้นในเขต ทม.มาบตาพุด วงเงิน 10 ล้านบาท หน่วยงาน ทม.มาบตาพุด 14. ก่อสร้างกำแพงดินเสริมเหล็ก หาดพยูน วงเงิน 17.36 ล้านบาท หน่วยงาน ทต.บ้านฉาง 15. ก่อสร้างกำแพงดินเสริมเหล็ก หาดน้ำริน วงเงิน 9.09 ล้านบาท หน่วยงาน ทต.บ้านฉาง 16.การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยพื้นที่มาบตาพุด วงเงิน 150 ล้านบาท หน่วยงาน กนอ.
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดลำดับความสำคัญของโครงการดังกล่าว ได้ดังนี้ 1) โครงการที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษ 7 โครงการ ดำเนินการโดยท้องถิ่นและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 6 โครงการ (ลำดับ 1-6) วงเงิน 13.6 ล้านบาท และโครงการของการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 1 โครงการ (ลำดับ 16) วงเงิน 150 ล้านบาท
2) โครงการที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษโดยตรง 9 โครงการ (ลำดับ 7-15) วงเงิน 242.76 ล้านบาท ต้องเพิ่มรายละเอียดกิจกรรมและความชัดเจนของพื้นที่ดำเนินการ และต้องแสดงข้อบ่งชี้ผลสัมฤทธิ์ในการลดหรือขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นจากน้ำเสีย
มติที่ประชุม
1. มอบหมายให้จังหวัดระยอง ดำเนินการดังนี้
1.1 ทบทวนแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษฯ ฉบับแรก (523 โครงการ) โดยให้นำโครงการ กลุ่ม 1 ซึ่งสอดคล้องในการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษ 95 โครงการ วงเงิน 4,967.53 ล้านบาท ไปดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และเพิ่มเติมเอกสารให้ครบถ้วน และเป็นไปตามมาตรา 60 และมาตรา 37-41 สำหรับโครงการกลุ่ม 2 และ 3 ให้จังหวัดระยอง ทบทวนหากเป็นโครงการสำคัญหรือจำเป็นให้พิจารณาดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการกลุ่ม 1
1.2 ทบทวนแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษฯ ฉบับแก้ไข (16 โครงการ) 1) โครงการลำดับที่ 1-6 และ โครงการลำดับที่ 9-13 ให้จัดทำรายละเอียดโครงการให้ครบถ้วนเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากงบกลาง 2)โครงการลำดับที่ 7-8 และ โครงการลำดับที่ 14-15 ให้หน่วยงานรับผิดชอบจัดทำรายละเอียดเอกสารให้ครบถ้วน แล้วขอสนับสนุนงบประมาณจากงบประมาณประจำปี 2554 ทั้งนี้โครงการลำดับที่ 8 ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำเรื่องรับโอนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อน 3) โครงการลำดับที่ 16 วงเงิน 150 ล้านบาท ให้ประสานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวบรวมฐานข้อมูลของแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ สภาวะผลกระทบด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ความรุนแรงของปัญหา รายละเอียดของกิจกรรมที่จะดำเนินการ พื้นที่ดำเนินการ และกลุ่มเป้าหมายที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินการ รวมทั้ง กำหนดผลสำเร็จที่จะได้รับให้ชัดเจน โดยให้ใช้งบประมาณของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการดำเนินการ
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษฯ มารวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ของจังหวัดระยองให้ถูกต้อง และเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ตามที่จังหวัดระยองร้องขอ และนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาภายใน 1 เดือน
นอกจากนี้ยังมีวาระเพื่อพิจารณา เรื่อง โครงการทางด่วนสายทางพิเศษศรีรัช-ดาวคะนอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยมติที่ประชุม 1. เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางด่วนสายทางพิเศษศรีรัช - ดาวคะนอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคมนาคม ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ในการประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม2552 2. ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป