สภาพัฒน์ฯ รายงานความคืบหน้าคดีมาบตาพุดต่อครม.
เผยมีโครงการที่ถูกศาลสั่งระงับจำนวน 65 โครงการ เบื้องต้นมี 7 โครงการ ที่ดำเนินการแล้วน่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะยื่นต่อศาล ระบุ ขณะนี้มีแบงก์หลายแห่งซ้ำเติม ไม่ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบกิจการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 รับทราบเรื่องความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67
สาระสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ครม.เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ได้พิจารณาเรื่อง ความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 โดยครม.มีข้อสรุปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ แต่มีเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนในการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุด
ซึ่งจากการพิจารณารายละเอียดโครงการทั้ง 65 โครงการในเบื้องต้น ปรากฏว่า มีโครงการที่อยู่ในข่ายที่จะสามารถให้ข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมจำนวน 42 โครงการ (โครงการดำเนินการแล้ว 11 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 9 โครงการ และ กำลังก่อสร้าง 22 โครงการ) โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นโครงการที่คิดว่ามีเหตุผลเพียงพอในการขอผ่อนผันการคุ้มครองชั่วคราว จำนวน 19 โครงการ และ กลุ่มที่ 2 เป็นโครงการที่ต้องหาเหตุผลอื่นในการขอผ่อนผันต่อศาล จำนวน 23 โครงการ
คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้มีความเห็น ดังนี้ ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง เป็นการชั่วคราว ภาครัฐได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยความรอบคอบ ให้เกิดการยอมรับได้ของทุกฝ่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำในลักษณะเดิมอีก โดยผ่านกลไกการทำงานของคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย และในการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งต่อไปจะมีการพิจารณาเรื่องประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดิมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้วแต่ยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากมีการทักท้วง โดยจะตัดประเด็นเรื่ององค์การอิสระออกไปก่อน ทั้งนี้ ประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะมีการพิจารณาใหม่จะเป็นการรวมแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับการดำเนินการเฉพาะหน้า ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบข้อมูลสถานะโครงการซึ่งเดิมศาลสั่งระงับจำนวน 76 โครงการ ต่อมาได้มีคำสั่งยกเว้น 11 โครงการ คงเหลือโครงการที่ถูกศาลสั่งระงับจำนวน 65 โครงการ และจากข้อมูลการตรวจสอบสถานะโครงการของหน่วยงานปรากฏว่ามี 23 โครงการ ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างหรือเริ่มดำเนินการซึ่งจะต้องไปดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ ทำให้เหลือโครงการที่อยู่ในเกณฑ์การพิจารณาที่จะขอผ่อนผันต่อศาล 42 โครงการ
จากรายละเอียดข้อมูลสถานภาพของ 42 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มโครงการที่มีเหตุผลเพียงพอในการขอผ่อนผันต่อศาลจำนวน 19 โครงการ เนื่องจากมีลักษณะโครงการเข้าเกณฑ์เหมือนกับ 11 โครงการที่ศาลมีคำสั่งยกเว้น ซึ่งได้ให้ภาคเอกชนยื่นข้อมูลเพื่อขอผ่อนผันต่อศาลเป็นรายๆ ไป และอีก 23 โครงการ มี 15 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้ขอให้เอกชนที่คิดว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ทำคำขอยื่นต่อศาลให้สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ โดยเอกชนยอมรับความเสี่ยงหากในอนาคตศาลพิจารณาเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีผลกระทบและต้องหยุดกิจการ ส่วนที่เหลือ 8 โครงการ ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะเสนอต่อศาลได้หรือไม่ ซึ่งดำเนินการในแนวทางนี้ไม่ได้ จะได้พิจารณาหาแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ต่อไป โดยในเบื้องต้นเห็นว่ามี 7 โครงการ ที่ดำเนินการแล้วน่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะยื่นต่อศาลเช่นเดียวกับกลุ่มของ 19 โครงการ
ขณะนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งไม่ยอมปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้น หน่วยงานสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น ควรมีการส่งสัญญาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าคำสั่งศาลปกครองไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อ เพราะข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อธนาคารเพิ่มขึ้น
ภาคเอกชนมีข้อกังวลว่าการดำเนินการตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญฯ ต้องใช้เวลานาน ประกอบกับมีบางโครงการที่ได้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพไปบ้างแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรมีการจัดทำคู่มือกรอบแนวทางดำเนินการ และระยะเวลาในกรณีที่เป็นโครงการที่จะดำเนินการต่อยอดจากที่ได้มีการประเมินผลไว้แล้วด้วย
มติคณะกรรมการ กรอ. รับทราบและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการพิจารณาในการดำเนินการต่อไปด้วย