ดร.มิ่งสรรพ์ หวังเครื่องมือเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาใช้พิทักษ์สวล.
ระบุ พ.ร.ฎ.มลพิษทางน้ำได้ร่างและมีการทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนพ.ร.ฎ.มลพิษทางอากาศ อยู่ในขั้นตอนทำประชาพิจารณ์ เล็งส่งมอบให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธาณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวถึงการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม ว่า การทำงานในระดับชาติได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย 2 ฉบับ คือพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) มลพิษทางน้ำ และพ.ร.ฎ.มลพิษทางอากาศ เป็นเครื่องมือเศรษฐศาสตร์สำหรับการดูแลมลพิษทางน้ำและมลพิษทางอากาศ
“เรื่องมลพิษทางน้ำได้ร่างและมีการทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับมลพิษทางอากาศกำลังประชาพิจารณ์ และจะทำครั้งสุดท้ายเดือนมกราคม ปี 2553 หลังจากนั้นจะได้ส่งมอบให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมโรงงาน”
สำหรับขั้นตอนการขับเคลื่อนนั้น ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า อย่างแรกต้องทำองค์ความรู้ก่อน หลังจากนั้นทำตัวกฎหมาย และทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าใจ ก่อนส่งมอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปใช้ ส่วนจะมีการประกาศใช้หรือไม่ก็แล้วแต่หน่วยงานนั้น ทั้งนี้ ได้เสนอไปถึงนายกรัฐมนตรีผ่านทางคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแล้ว
ผอ.สถาบันศึกษานโยบายสาธาณะ มช.กล่าวถึงการขับเคลื่อนเรื่องมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ว่า มีนโยบายชัดเจน การขับเคลื่อนได้ไปสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน หาเทคโนโลยีใหม่เข้าไปส่งเสริม และพยายามทำคู่มือแบบแผนทางอากาศเพื่อที่จะประกาศการเฝ้าระวังจัดระเบียบการเผา หลังจากปีที่ผ่านมาทางจังหวัดได้ให้รวบรวมองค์ความรู้ว่าที่ไหนทำอะไรบ้าง จากนั้นได้มีการเชิญประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แนวทางปฏิบัติที่ดี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรุปงานและจัดระเบียบการเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่มีการขับเคลื่อนไปแล้ว
ขณะที่เรื่องอาหารปลอดภัยเป็นอีกงานหนึ่งที่อยู่ในขั้นดำเนินการ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า กำลังสร้างองค์ความรู้ดูแลอาหารนำเข้า เนื่องจากอาหารส่งออกทางรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณปีละพันล้านบาท เพื่อที่จะให้อาหารส่งออกมีความปลอดภัย แต่อาหารนำเข้ายังไม่มีกลไกที่ว่าเมื่อวางขายแล้วสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)สามารถตรวจได้ และระบบกำกับในลักษณะการติดตามไปถึงผู้ขายยังไม่มี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ว่าอาหารนำเข้าปลอดภัยขนาดไหน สมมติว่าถ้าบางคนกินไปแล้วมีปัญหาไม่สบาย จะไปหาสินค้าตัวนั้นและหยุดจำหน่ายทั้งประเทศได้อย่างไร
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงโครงการสร้างคู่คิดมิตรแท้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ได้นำอาจารย์ที่อยู่ในต่างจังหวัดไปทำงานร่วมกับท้องถิ่น ในเรื่องที่อาจารย์แต่ละคนถนัดและสนใจ เพื่อให้เป็นสมองเป็นมือในการช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น ปีที่ผ่านมาได้สร้างอาจารย์ในระดับต่างๆจำนวน 15 คน จากที่ยังไม่รู้จักเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ให้เรียนรู้ในเรื่องนี้ และจะเปิดรับอีก 7 คน พัฒนาสร้างจิตสำนึกให้อาจารย์ที่ทำงานอยู่ในท้องถิ่นมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น
“ปี 2553 ทุกเรื่องจะมีการขับเคลื่อนต่อ ทั้งเรื่อง อปท. หมอกควันจะมีการจัดระเบียบการเผา ภาษีในระดับชาติที่พยายามเสนอ คือ ภาษีคาร์บอนรถยนต์ และภาษีที่จะเก็บจากนักท่องเที่ยว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำการศึกษา อีกเรื่องหนึ่งคือ ภาษีเชื้อเพลิงคาร์บอน ซึ่งอาจจะทำได้ช้า เพราะผลจากการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ไม่มีอะไรที่ชัดเจนมากนัก” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว
เมื่อถามถึงอุปสรรคใหญ่ในการทำงาน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการที่ประเทศไทยไม่มีนักวิจัยที่เพียงพอ ขณะที่อาจารย์ส่วนใหญ่จะเน้นสอนมากเกินไป ทั้งนี้ สิ่งที่อยากจะทำ และเป็นเรื่องใหญ่ คือ การจัดลำดับ อปท.ตามประสิทธิภาพ ความเสมอภาคความยั่งยืนที่ อปท.ทำให้กับชุมชน โดยจะดูเรื่องนโยบายกระจายอำนาจว่า การที่ อปท.ประสบความสำเร็จมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น มาจากตัวผู้นำ ศักยภาพของพื้นที่ ทุนสังคมหรือว่าภาษีที่เก็บได้ เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษา แต่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรทำงานไม่สัมพันธ์กับจำนวนอปท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ