'ในหลวง' สายพระเนตรยาวไกลเรื่องพลังงานทดแทน
ดร.สุเมธกระตุ้นคนไทยประหยัดพลังงาน เผย"ในหลวง"มีสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงให้ความสำคัญ ค้นคว้า วิจัยพลังงานทดแทนมาก่อนเป็นสิบปี ตั้งแต่พลังงานไม่เป็นที่กล่าวขวัญ น้ำมันยังราคาถูก
วันนี้ (22 ธ.ค.) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดการประชุมวิชาการประเพณี ครั้งที่ 13 เรื่องพลังงานทางเลือกของไทย:ฝ่าวิกฤต สร้างโอกาส จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กองทัพเรือ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระบุว่า พลังงานเป็นเรื่องใหญ่ใกล้ตัว และเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัจุบันประเทศต่างๆ ใช้น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลัก นอกจากสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไปเรื่อยๆ แล้ว ยังมีราคาสูงผันผวนตลอดในระยะหลายปีที่ผ่านมา
ดร.สุเมธ กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังเช่นทำข้อตกลงพิธีสารเกียวโต การจัดภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 ขึ้น ที่กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก เพื่อสร้างข้อตกลงใหม่ แทนพิธีสารเกียวโตจะหมดลงปี 2555
“การประชุมใช้เวลา 13 วัน แม้จะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ มีประเทศต่างๆเข้าร่วม 191 ประเทศ สามารถดึงสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมได้ แต่ผลสุดท้ายก็ได้แค่ข้อตกลงทางการเมืองบางประการ ไม่มีข้อผูกพันใดๆ ทางกฎหมาย นับว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย”นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว และเห็นว่า สำหรับประเทศไทย เรื่องสำคัญคือต้องเร่งศึกษาค้นคว้าวิจัย ผลิตพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนมาหลายสิบปีแล้ว จากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงเห็นความสำคัญของการค้นคว้าพลังงานทดแทน ตั้งแต่ปัญหานี้ยังไม่เป็นที่กล่าวขวัญกัน ตั้งแต่ราคาน้ำมันยังต่ำมาก ทรงตระหนักเป็นเวลาหลายสิบปีต้องหาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะถ่านหินที่มีอยู่น้อย น้ำมันต้องนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้เงินมหาศาล
“เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิอากาศเหมาะสมกับการเพาะปลูก พระองค์ท่านทรงรับสั่งให้โครงการในพระองค์วิจัยนำพืชมาผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง รวมทั้งทรงสนพระทัยเรื่องพลังงานน้ำ นอกเหนือจากเรื่องพืช น้ำ แล้ว พระองค์ท่านทรงสนพระทัยเรื่องพลังงานลม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก นอกเหนือจากนั้นยังมีการทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง การพัฒนาระบบผลิตความเย็นใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ ทุกอย่างล้วนเป็นตัวอย่างของการคิดล่วงหน้า” ดร.สุเมธ กล่าว และ ว่า สังคมไทยควรช่วยกันส่งเสริม ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้คนให้ประหยัดพลังงาน พัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนต่อไป