งานวิจัยชี้ชัด25 ลุ่มน้ำหลักในไทยมีศักยภาพพลังน้ำสูง
แนะรัฐสร้างแรงจูงใจด้านราคา รับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้เหมาะสม หลังพบไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนขนาดเล็กได้ราคาเพิ่มเพียง 1.50 บา ท/หน่วย ขณะที่ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ราคาเพิ่มถึง 8 บาท/หน่วย
ศาสตราจารย์ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในไทย ว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 30, 000 เมกกะวัตต์ โดยร้อยละ 10 ของจำนวนนี้ได้จากพลังน้ำ ในแผนพัฒนาพลังงานที่มีระยะเวลาสิ้นสุดของแผนปีพ.ศ.2564 มีการประเมินความต้องการกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไว้ว่า จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30,000 เมกกะวัตต์ในช่วงปลายแผนพัฒนาพลังงาน
“ในการทำแผนพัฒนาพลังงาน แผนแรกพ.ศ.2550 ยังมีข้อมูลที่จำเป็นไม่เพียงพอ จึงมีจุดอ่อนหลายด้าน เช่น ยังมีการกำหนดให้ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลัก สัดส่วนร้อยละ 68 ของอุปทานพลังงานทั้งหมด ขณะที่ภาคการขนส่งก็ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น โรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนพัฒนาที่สูงถึง 2, 400 เมกกะวัตต์อาจจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น จนเกินส่วนแบ่งการปล่อยก๊าซสำหรับประเทศไทย” ศ.ปรีดา กล่าว
ศ.ปรีดา กล่าวต่อว่า การลดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผนที่มีการปรับปรุงพ.ศ.2552 ลงเหลือเพียง 2,000 เมกกะวัตต์ ถือว่าเป็นแผนที่ดี แต่การติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของประเทศเป็นเรื่องที่ต้องใช้ เวลาในการดำเนินการไม่ต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากต้องได้รับความร่วมมือและอธิบายให้ประชาชนยอมรับ ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อความต้องการในช่วงปลายแผน ดังนั้นรัฐจะต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ และต้องมีการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังน้ำที่มีศักยภาพในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
“ถึงแม้ว่าในแผนพัฒนาฉบับที่ปรับปรุงได้เพิ่มพลังน้ำเป็น 770 เมกกะวัตต์ แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่ต่ำอยู่มาก เนื่องจากผลการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช.)ล่าสุดได้แสดงให้เห็นว่าลุ่มน้ำปิง ยม น่าน ชีและลุ่มน้ำมูล ยังมีศักยภาพพลังน้ำที่เป็นไปได้ ทั้งจากเขื่อนพลังน้ำขนาดเล็กและขนาดเล็กมากอีกไม่ต่ำกว่า 300 เมกกะวัตต์ ดังนั้นศักยภาพลังน้ำที่เป็นไปได้จากทั้ง 25 ลุ่มน้ำหลักในประเทศไทย จะไม่ต่ำกว่า 1,500 เมกกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าพลังน้ำที่ประเมินไว้ในแผนพัฒนา”ศ.ปรีดา กล่าว
ศ.ปรีดา กล่าวด้วยว่า แม้ว่ารัฐบาลได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการลงทุนโดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ในการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแล้วก็ตาม แต่ราคาดังกล่าวก็ยังไม่เหมาะสมในหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนขนาดเล็กได้ราคาเพิ่มเพียง 1.50 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ราคาเพิ่มถึง 8 บาทต่อหน่วย ทั้งๆที่การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทั้งสองประเภทมีข้อดีคล้ายคลึงกัน เช่น สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคงในประเทศ ดังนั้นราคาเพิ่มที่มีการกำหนดไว้ ควรจะได้รับการทบทวนเพื่อความเหมาะสมและโปร่งใส