ผู้ประกอบการไทยอ่วม ปีหน้าญี่ปุ่นเล็งเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม
ทูตพาณิชย์แนะพัฒนาสินค้าให้ประหยัดพลังงาน - ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดึงดูดผู้บริโภคซื้อสินค้าไทยอย่างมั่นใจ ขณะที่แนวคิดCSRอาจถูกหยิบยกเป็นประเด็นกีดกันการค้า
นางอัมพวัน กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าทำตลาดสินค้าในญี่ปุ่นจะต้องปรับเปลี่ยน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานธรรมชาติ พลังงานสะอาดจะได้รับความนิยมมากขึ้น หรือแม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สินค้าที่มีส่วนประกอบ และบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย เป็นต้น จะดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ควรมีข้อมูลหลักฐานที่แสดงจุดเด่นเหล่านี้ที่ชัดเจนกำกับไว้ด้วยจึงจะได้รับความมั่นใจจากผู้บริโภคตลาดญี่ปุ่น
สำหรับการจัดเก็บภาษีใหม่นี้ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า มีเหตุผล 2 ประการ คือ 1. ต้องการเพิ่มรายได้เข้ารัฐ เพื่อชดเชยรายได้ของรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น ที่จะลดไป 2.5 ล้านล้านเยน จากการที่รัฐบาลจะยกเลิกภาษีน้ำมันสำหรับรถยนต์ คาดว่า ภาษีสิ่งแวดล้อม จะเก็บเป็นรายได้เข้ารัฐได้ประมาณ 2 ล้านล้านเยน และ 2. สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาล ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกภายในปี 2563 ลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2533
ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นประมาณการณ์ว่า ภาระภาษี ใหม่นี้ เมื่อชดเชยกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ถูกลงและการยกเลิกภาษีน้ำมันรถยนต์ จะทำให้ครัวเรือนมีภาระเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,100 เยน (ประมาณ 420 บาท) ต่อปี แต่สำหรับครัวเรือนที่ไม่มีรถยนต์ภาระภาษีเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 4,240 เยน (ประมาณ 1,600 บาท) ต่อปี ทางด้านผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ บริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า สมาคมผู้ค้าแก๊ส แสดงความเห็นคัดค้าน เพราะ จะสร้างภาระมากต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ไม่มีรถยนต์
“ขณะที่บริษัทก่อสร้างบ้าน ซึ่งรับติดตั้งระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์เห็นว่า การจัดเก็บภาษี
สิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น แต่ภาครัฐจำเป็นต้องหารายได้มาชดเชยส่วนที่หายไป เพื่อพยายามรักษาวินัยทางการคลัง ในการหลีกเลี่ยงการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง”นางอัมพวัน กล่าว
อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่นมีเจตจำนงชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซที่จะเกิดสภาวะเรือนกระจกภายในปี 2563 ลงร้อยละ 25 นางอัมพวัน กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลคงต้องออกมาตรการใดมาตรการหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้บังคับ และผลจากการสำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่น โดยสำนักต่างๆ ปรากฏว่า มีประชาชนประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้ตอบคำถามเห็นด้วยและมากขึ้นจาการสำรวจก่อนหน้านี้มาก สะท้อนถึงความตระหนักต่อสภาวะโลกร้อนของคนญี่ปุ่น
ด้านนางสมรรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก กล่าวถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (S
ocial Responsibility : SR ) ในสหรัฐฯ ว่า เป็นกระแสการดำเนินธุรกิจที่กำลังตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยมีแนวคิด และวิธีการที่ให้ความสำคัญในเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ดังนั้น องค์กรธุรกิจจำนวนมากจึงเริ่มพัฒนาองค์กรในแนวคิดธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ซึ่งหมายถึง การมีนโยบายพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน
“กระแส CSR ในสหรัฐฯ ได้รับความนิยมและปฏิบัติเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังไม่กว้างขวางนักเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรป เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ อังกฤษ นอร์เวย์ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ หรือ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการดำเนินการเป็นที่แพร่หลายมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ผู้นำในการดำเนินการตามแนวคิด CSR ในสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ MNCs ของสหรัฐฯ อาทิเช่น แม็คโดนัล สตาร์บัค ไนกี้ โคคาโคลา วอลล์มาร์ค เป็นต้น”
นางสมรรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินการ CSR ของภาคเอกชนสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้นำเข้า จะส่งผลกระทบต่อไปยังประเทศคู่ค้า หรือ ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าให้สหรัฐฯ ปัจจุบัน ผู้นำเข้าที่ยึดหลักดำเนินการCSR จะสรรหาสินค้าและบริการจากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน ผู้นำเข้า/ผู้ซื้อจะนำประเด็นด้านต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม สุขภาพและความปลอดภัย การจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน เวลาการทำงาน การใช้แรงงานผู้เยาว์ การเลือกที่รักมักที่ชัง ว่าเป็นไปตามกฎหมายของท้องถิ่น ถูกต้องตามหลักการ CSR หรือไม่ เข้ามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจในการสั่งซื้อหรือประกอบธุรกิจร่วมกัน
“แม้ว่าการทำCSR เป็นเรื่องของความสมัครใจและความพร้อมของภาคธุรกิจ แต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ และสามารถดำเนินธุรกิจกับกลุ่มผู้นำเข้าทั้งรายเก่าและเป็นลู่ทางเชื่อมโยงไปสู่คู่ค้ารายใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR และต้องการทำการค้ากับ ผู้ประกอบการที่มีมาตรฐาน CSR เท่านั้น ปัจจุบัน บรรยากาศการค้าโลกให้ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการขององค์กรและถือเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ที่เพิ่มขีดความสามารถเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ”
นอกจากนี้แนวคิด CSR อาจเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ถูกนำมาใช้บังคับในการทำการค้ากับประเทศต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีรูปแบบหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว นางสมรรัตน์ กล่าวว่า องค์กรธุรกิจไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวความคิดดังกล่าว หาไม่แล้วก็อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจข้ามชาติ หรือการค้าระหว่างประเทศนั้น การพัฒนาแนวคิด การทำ CSR เข้ามาใช้ในองค์กรของตนในเวลานี้จะนำประโยชน์ให้กับองค์กรมากกว่าการต้องทำรีบเร่งทำเพราะถูกบีบจากบริษัทต่างชาติที่กำหนดไว้ว่าจะดำเนินธุรกิจกับองค์กรที่มาตรฐานด้านแรงงาน สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อมฯ เท่านั้น