ปิยสวัสดิ์กระตุ้นธุรกิจไทยทำ CSR ลดปัญหาโลกร้อน
ใช้กลไกพลังงานสีเขียว Carbon Offset ในรูปแบบ CSR ดร.ปิยสวัสดิ์ เตือนธุรกิจไทยต้องเตรียมตัว แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในอนาคตจะมีมาตรการ-เงื่อนไขออกมาบีบบังคับเรื่อยๆ
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถา เรื่อง"กลไกพลังงานสีเขียว...Carbon Offset ในรูปแบบ CSR" ในงานสัมมนาประจำปีในหัวข้อ "พลังงานสีเขียวกับโอกาสของการลงทุน " เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องเวิล์ด บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ
ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวถึง Corporate Social Responsibility (CSR) ว่า เป็นแนวคิดทางธุรกิจที่เป็นกระแสไปทั่วโลก ในประเทศไทยองค์กรขนาดใหญ่ หรือองค์กรภาครัฐมีการทำ CSR ในหลายรูปแบบไปบ้างแล้ว บางบริษัทไปดูแลเรื่องช้าง ปลูกป่า ช่วยเรื่องการศึกษาในท้องที่ห่างไกล และปัจจุบันมีกลุ่ม CSR เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ทุกคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะก่อนประชุมว่าด้วยข้อตกลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก จะเริ่มขึ้น 7-18 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะตามมาด้วยข้อตกลงหลายเรื่องที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับประเทศไทย ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า แม้ยังไม่มีข้อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในอนาคตจะมีเงื่อนไขเข้ามามีผลต่อการผลิตและการใช้พลังงานเรื่อยๆ อุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ ปูนซีเมนต์ น้ำมันปิโตรเคมี ขณะที่ธุรกิจการบิน แม้ยังไม่ได้มีเป้าหมายแต่ได้มีข้อตกลงร่วมกันจะลดก๊าซเรือนกระจก โดยกลุ่มประเทศต่างๆ ก็เริ่มมีมาตรการออกมาบังคับธุรกิจการบิน เช่น อียูกำหนดแล้วเครื่องบินเข้า-ออก ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลง 3 % ในปี 2012 และจะตามมาด้วยมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในระยะต่อไป ฉะนั้นธุรกิจไทยควรต้องมีการเตรียมตัว
ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในประเทศพัฒนาแล้วมีธุรกิจหลายแห่งทำ CSR ที่เกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อน เช่น Lafarge บริษัทชั้นนำของโลกด้านวัสดุก่อสร้างวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2010 จากการผลิตปูนทั่วโลก 20 % จากระดับในปี 1990 โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หันมาใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ใช้สารเติมแต่งที่ไม่มีองค์ประกอบของคาร์บอนในการผลิตซีเมนต์“
"ส่วน Coca Cola ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 ล้านตันในปี 2015 จากปริมาณที่คาดว่าจะปล่อยจริง โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดปริมาณการใช้พลังงานในการผลิตกระป๋อง ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม”ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว และว่า การทำ Carbon offset หรือการชดเชยกิจกรรมจากการทำธุรกิจหรือใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น เป็นวิธีการที่ทุกคนสามารถช่วยโลกได้ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีธุรกิจหลายประเภทที่เราสามารถซื้อ Carbon offset ได้ เช่น TerraPass Carbon Footprint,J.P.Morgan Climate Care , Clear, Carbon Neutral โดยในแต่ละบริษัทมีโครงการให้เลือก จะบริจาคเงินไปช่วยโครงการใดบ้าง โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการปลูกป่า กังหันลม หรือจะเป็นเรื่องประหยัดพลังงาน สามารถเลือกได้ ซึ่งต้นปีหน้า บมจ.การบินไทย จะมีโครงการนี้ออกมา
ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Energy for Environment Foundation:E for E)ว่า ได้จัดทำโครงการกลไกพลังงานสีเขียว เริ่มต้น Carbon offset อย่างเงียบๆ มาเป็นเวลาปีกว่า นำเงินจากผู้สมัครใจบริจาค ไปพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ห่างไกล เช่น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อใช้แทนก๊าซหุงต้ม โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพเตานึ่งเมี่ยง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เป็นต้น
“โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก น่าสนใจ เพราะท้องที่ห่างไกลของไทยจำนวนมากมีน้ำ โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดจิ๋วเป็นวิธีการตอบสนองความต้องการไฟฟ้าถูกที่สุด ต้นทุน 2-5 บาทต่อหน่วยเท่านั้น โซล่าร์โฮม 16 บาทต่อหน่วย ที่ผ่านมา ภาครัฐละเลยพลังงานน้ำขนาดจิ๋ว ในท้องที่ห่างไกล มัวหมกมุ่นแต่โซลาเซลล์ บนหลังคาบ้าน ซึ่งราคาแพงกว่ามาก” ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว และว่า ที่ไหนไม่มีไฟฟ้า ต้องดูด้วยว่า มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ ถ้าไม่มีน้ำ ไม่มีลม ไม่มีพลังงานชีวมวล จึงสมควรใช้แสงอาทิตย์
ขณะที่นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการทำโครงการร่วมกับมูลนิธิฯ ว่า ในฐานะภาคเอกชนที่ต้องการเห็นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงให้การสนับสนุนในหลายโครงการ มีโครงการที่ดำเนินการเสร็จแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพเตานึ่งเมี่ยง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ชาวบ้านที่บ้านป่าเหมี้ยงประกอบอาชีพนึ่งและจำหน่ายใบเมี่ยง การนึ่งแบบเดิมต้องใช้เวลา 90 นาที นึ่งใบเมี่ยง 25 กิโลกรัม ใช้ฟืน 20-25 กิโลกรัม ขณะที่เตานึ่งประหยัดพลังงาน สามารถนึ่งใบเมี่ยงจำนวนเดียวกันได้ภายในเวลา 60 นาที ใช้ฟืน 7-10 กิโลกรัม หรือใช้เชื้อเพลิงลดลงถึง 60 % ลดการตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างมาก ลดปัญหาการบุกรุกป่าและลดการตัดต้นไม้ได้กว่า 4,800 ต้นต่อปี
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยปูลิง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นายสุรงค์ กล่าวว่า ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นมาก เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ทำให้ประชาชน 113 ครัวเรือน ใน 3 หมู่บ้านมีโอกาสที่จะมีไฟฟ้าใช้ จากการผลิตโดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันน้ำ ขนาด 22 กิโลวัตต์