คำเตือนจากยูเอ็นอีก 11 ปี ความต้องการน้ำพุ่งขึ้น 2 เท่า
รมว.ทส. เชื่อหากไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี การแย่งชิงน้ำจะเกิดขึ้นตามมา ยอมรับที่ผ่านมาไทยล้มเหลวในการบริหารจัดการทรัพยากร แก้ปัญหาไม่สมดุล เพราะมองแบบแยกส่วน
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)กล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย หัวข้อ "การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อความสุขของคนไทย ใต้ร่มพระบารมี" ในงาน "เหลือง ฟ้า มหามงคลเทิดพระเกียรติจากวันแม่ถึงวันพ่อ" ณ อาคารคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยอมรับว่า การมองปัญหาแบบแยกส่วน ทำให้ที่ผ่านมาการบริหารทรัพยากรธรรมชาติของไทยไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่เรื่องน้ำแม้จะมีการทุ่มงบฯ แก้ไขปัญหาหลายหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่สามารถนำน้ำไปทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นได้
นายสุวิทย์ กล่าวถึงการแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ถ้าไม่ร่วมกันดูแลแก้ไขและป้องกันแล้ว จะเกิดผลกระทบจากภัยธรรมชาติตามมาอย่างแน่นอน
เรื่องการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาตินั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้ทรัพยากรแบบไม่รู้คุณค่า บริหารจัดการก็ไร้ประสิทธิภาพไม่ยั่งยืน ใช้วิธีแบบมองแยกส่วน แก้ปัญหาแต่ละแห่งแยกกันไปแล้วนำมาปะติดต่อกันให้เกิดภาพ การแก้ปัญหาที่ไม่สมดุล ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นจากนี้ต่อไปต้องมองแบบองค์รวม ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร จะแยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้
รมว.ทส. กล่าวอีกว่า องค์การสหประชาชาติสำรวจพบ ภายในปี 2563 ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญ หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีผลกระทบจากการแย่งชิงน้ำจะตามมาแน่นอน
“ไทยใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำแต่ละปีกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่เคยมองภาพรวมการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ได้หมายถึงต้องสร้างคลองส่งน้ำอย่างเดียว ต้องมองด้วยว่าเมื่อมีน้ำแล้วจะใช้ประโยชน์จากน้ำ จะนำน้ำไปแก้ไขความเป็นอยู่ ความยากจนของประชาชนได้อย่างไร”นายสุวิทย์ กล่าว และว่า ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางตอนล่าง มีคนยากจนต่ำกว่าร้อยละ 5 มีระบบชลประทานกว่าร้อยละ 90 ทำให้คนภาคกลางปลูกข้าวได้ปีละ 4 ครั้ง ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคนยากจนเกินร้อยละ 60 และมีระบบชลประทานเข้าถึงเพียงร้อยละ 10 ทุกหน้าแล้งกรมชลประทานจะออกมาเตือนให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูก แต่ลืมนึกถึงว่า เกษตรกรต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้ ดังนั้นปัญหาการจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ การปลูกพืชต้องปรับโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด ไม่ผลิตตามความเคยชิน
นายสุวิทย์ กล่าวถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เห็นแล้วว่า นักลงทุนเริ่มไม่อยากที่จะลงทุน ซึ่งควรเร่งสร้างงานในภาคเกษตรกรรม ให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี มีรายได้จากอุตสาหกรรมเกษตร ปรับการผลิตในภาคเกษตรให้มีปริมาณเพียงต่อภาคอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออก รวมทั้งการปรับโครงสร้างระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
“การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องสนใจใช้เทคโนโลยีและการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาให้มากขึ้น เป็นหัวใจสำคัญ การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมองทุกด้าน นำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ป้องกันแก้ไข ฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์นั้นไม่ได้หมายความว่า เพื่อเก็บรักษาไว้โดยไม่มีการใช้ประโยชน์ แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนได้เช่นเดียวกัน” รมว.ทส. กล่าว