คกก.สมานฉันท์ฯ ปฏิรูปการเมืองฯ เห็นชอบตั้ง 4 คณะทำงาน
ส่วนกลาง - ส่วนภูมิภาค - สื่อสารสังคม - วิชาการ คาดปลายเดือนสิงหาฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น และโครงสร้างรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (14 ก.ค. ) ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 3/2553 สรุปประเด็นสำคัญที่พิจารณาดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบในเบื้องต้นในแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสองและวรรคห้า ในประเด็นเกี่ยวกับประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา โดยจัดทำเป็นพระราชบัญญัติกำหนดรายละเอียดรองรับ
ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองไทย โดยให้เปลี่ยนเป็น 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง และคณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับปรุงกลไกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในเบื้องต้น เช่น โครงสร้างตำรวจ อัยการ ศาล รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และมอบหมายคณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองดำเนินการศึกษาข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินงานมีส่วนร่วมกับประชาชนโดยให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานส่วนกลาง คณะทำงานส่วนภูมิภาค คณะทำงานสื่อสารสังคม และคณะทำงานวิชาการ เพื่อประสานความร่วมมือในการร่วมแสดงความคิดเห็นในการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น และโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ผ่านเครือข่าย องค์กร หน่วยงาน และกลุ่มสังคมต่าง ๆ และให้เพิ่มเติมผู้แทนที่เป็นสตรีในคณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมกับประชาชนฯ อีก 2 คน คือ นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้นำดีเด่นด้านพัฒนาชุมชน
ทั้งนี้ หลังจากมีการนำเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น และความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม และการปรับโครงสร้างทางการเมืองเรียบร้อยแล้วจะได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยผ่านทางเว็บไซต์ ทางไปรษณีย์ และเปิดรับฟังทางโทรศัพท์ คาดว่าจะสามารถรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2553