ราชดำเนินเสวนาถกหาทางออก "ความล้มเหลวปฏิรูปตำรวจไทย"
“อ.นิติฯ มธ.” จี้ตร.ถึงเวลาเปิดใจปฏิรูปตนเองแนะปรับลดโครงสร้าง-สร้างความชัดเจนหน้าที่ แยกความถนัดงาน ดึงอัยการช่วยงานกม. ส่วน “รองคณบดีรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า” เสนอ 3ขาปฏิรูป การเมือง-ปชช.-ตร. “รองผบ.ตร.” ชี้ต้องสร้างระบบแต่งตั้งที่เป็นธรรมเพิ่มความมั่นใจดึงจนท.กลับทำหน้าที่
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 9/2553 เรื่อง “ทางออกของความล้มเหลวปฏิรูปตำรวจไทย” โดยมีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,พ.ต.ท.ดร.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมนักข่าวฯ
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปตำรวจว่า 1.การปฏิรูปตำรวจต้องปรับโครงสร้างตำรวจให้เล็กลงเช่น ในแต่ละท้องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องร่วมกับชุมชน รวมถึงภาคเอกชน ช่วยกันปฏิรูปเพื่อให้สำเร็จได้ง่ายขึ้นอาจให้มีการทำงานแบบตำรวจบ้านที่มีภาคประชาชนร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานของตำรวจอบอุ่นและใกล้ชิดประชาชนให้มากขึ้น 2.ต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ตำรวจให้ชัดเจนรวมถึงความถนัดของงานที่ต้องเปลี่ยนแปลง
นายแสวง กล่าวอีกว่า งานหลักของตำรวจควรให้ดูแลความสงบเรียบร้อยส่วนงานคดีควรให้นักกฎหมาย อัยการมาช่วยเนื่องจากงานด้านกฎหมายมีความซับซ้อนมาก ซึ่งสาระสำคัญของระบบกล่าวหาต้องแยกอำนาจสอบสวนฟ้องร้องคดีออกจากการพิจารณา ข้อกล่าวหาเนื่องจากที่ผ่านมาระบบเราไม่เป็นสากล สำหรับงานอื่นๆที่ตำรวจไม่ถนัด เช่น การพิสูจน์ศพ ควรให้คนอื่นเข้ามาช่วย ตัวอย่างกรณีญี่ปุ่นกับอเมริกาให้แพทย์มาช่วยเป็นต้น และต้องแยกสำนวนสอบสวนออกจากสำนวนชันสูตรศพ ดังนั้นต้องแยกความถนัดของงานให้ชัดเจนและต้องแยกบทบาทตำรวจจากจับกุมและสอบสวนเอง ให้อัยการสอบสวนเพื่อเปลี่ยนให้ระบบดีขึ้น
“นี่เป็นลักษณะของตำรวจไทยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลง เราต้องปรับโครงสร้างตำรวจ ต้องให้ท้องถิ่นประชาชนได้ทำงานร่วมปฏิรูปกับตำรวจ สร้างระบบที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการปฏิรูปต้องทำให้เกิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาอย่างที่นพ.ประเวศ วะสี บอกในการขับเคลื่อนการปฏิรูป ตำรวจ”อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.กล่าว
พ.ต.ท.ดร.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เสนอให้สามเหลี่ยม 3 ขาในการปฏิรูปตำรวจไทย คือ ภาคการเมือง ภาคประชาชน และภาคเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกัน โดยภาคการเมืองต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิรูปส่วนตำรวจต้องเปิดใจกว้างในการยอมปฏิรูปตนเอง และภาคประชาชนต้องเข้าใจและร่วมในการผลักดันการปฏิรูปทั้งสามส่วนต้องดำเนินการพร้อมกัน เชื่อว่าหากเกิดความร่วมมืออย่างน้อย 2 ใน 3 ส่วนก็จะเกิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการปฏิรูปงานตำรวจได้จะมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลง
“ปัญหาตำรวจ คือ เกิดวิกฤติศรัทธา เป็นอุปสรรคจากบทบาทการทำงานของโครงสร้างทำงานที่แบ่งอำนาจลงท้องที่ ไม่ใช่การกระจายอำนาจ รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานที่ตำรวจมักมองตนเองเป็นผู้พิทักษ์ อาจจะทำให้ประชาชนตกเป็นผู้ถูกกระทำ ฉะนั้นเพียงแค่ปการปรับโครงสร้างตำรวจนั้นจะเพียงพอหรือไม่ในการทำให้การปฏิรูปให้สำเร็จ วันนี้สองขาภาคการเมืองและประชาชนพร้อมแล้วแต่ขาของตำรวจต้องเปิดใจยอมเปลี่ยนแปลงด้วย จึงจะปฏิรูปสำเร็จได้” รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าว
รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวด้วยว่า อุปสรรคที่ผ่านมาของการปฏิรูปตำรวจ เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเกิดปัญหาความเชื่อมั่นของตำรวจต่อการกำหนดนโยบายของรัฐและความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปฯ มีความไม่มั่นใจว่าการปฏิรูปจะแก้ปัญหาได้จริง และมีความข้องใจว่าทำไมการปฏิรูปต้องให้คนนอกมาดำเนินการทำไมไม่ให้ตำรวจปฏิรูปกันเอง เกิดปัญหาขึ้นระหว่างตำรวจกับฝ่ายการเมือง คือ ปัญหาอำนาจการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีและอำนาจจากฝ่ายบริหาร ดังนั้นต้องทำให้ตำรวจต้องปลอดจากฝ่ายการเมือง เพราะตำรวจไม่สามารถจะปลอดจากฝ่ายบริหารได้
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจควรปรับให้ตำรวจกลับมาทำหน้าที่ของตนด้วยความมั่นใจต้องทบทวน การจัดสรรคนมาเป็นตำรวจ ให้มีการอบรมพัฒนาคุณภาพตำรวจ รวมถึงการลงทุนนำวิทยาการเทคโนโลยีไอทีมาใช้ในการทำงานของตำรวจอย่างทั่วถึงด้วย เนื่องจากขณะนี้งานตำรวจได้ลงทุนผิดที่เช่น ปัจจุบันต้องลงทุนกว่า 2 พันล้านบาทในค่าเช่ารถปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ขณะที่มีการลงทุนในการนำ เทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น หรือคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจภาคประชาชนได้รับงบประมาณ ไม่ถึง 20 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งการนำวิทยาการเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยควบคุมไม่ให้ตำรวจกระทำความผิดอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้รัฐบาลจะปฏิรูปตำรวจควรทำในลักษณะทั้งจากความร่วมมือภายในสู่ภายนอกและความร่วมมือจากสังคมสู่ภายในองค์กรตำรวจด้วย
"ปรากฏการณ์ตำรวจมะเขือเทศวันนี้ คือ ตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่ของตน เนื่องจากไม่มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่และไม่มั่นใจในโอกาสเติบโตก้าวหน้า วันนี้ไม่ต้องมีคณะกรรมการปฏิรูป แต่จะต้องทำอย่างไรให้ตำรวจกลับมาทำงานหน้าที่พื้นฐานอย่างมีจิตวิญญาณด้วยความมั่นใจให้ได้ ต้องทำให้เกิดระบบแต่งตั้งตำรวจที่เป็นธรรม สร้างกฎกติกาที่ชัดเจนในระบบการแต่งตั้งตำรวจ”รองผบ.ตร.กล่าว และว่า เนื่องจากวันนี้ยังมีปัจจัยทำให้ตำรวจไม่มั่นใจในการทำงานจึงต้องทำให้เกิด การเลื่อนขั้นตำแหน่งอย่างเป็นธรรมให้เกิดเกณฑ์พิจารณาที่ยึดความรู้ ความสามารถ หรือควบคู่ความอาวุโส
รองผบ.ตร.กล่าวด้วยว่า ต้องมีการคัดสรรตำแหน่งผู้การประจำจังหวัดให้บุคคลเหล่านี้เป็นนักบริหารที่ ดีต้องทำให้เกิดหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีคุณภาพ ต้องมีกฎเกณฑ์การประเมินงานที่ชัดเจน และต้องสร้างกฎกติกาให้คนมั่นใจได้
"การปฏิรูปตำรวจเราต้องทำให้ได้ผู้นำตำรวจในทุกระดับที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ผบ.ตร.คนเดียวเท่านั้น ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ ต้องทำสถานีตำรวจเป็นที่ยอมรับของทุกคนให้ได้"พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ส่วนนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปตำรวจนั้นไม่สามารถละทิ้งภาคสื่อมวลชน ภาคประชาสังคมได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ต้องทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ รู้สึกได้ถึงการมีส่วนร่วมในการปฏิรูป ไม่ใช่เพียงการสั่งการจากระดับบน นอกจากการปรับโครงสร้างตำรวจแล้ว จะต้องมีการปรับระบบการบริหารให้รวดเร็วด้วย รวมถึงการทำงานโดยเคารพสิทธิ ประชาชน สร้างระบบสวัสดิการ และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานตำรวจ
“สำหรับคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการปฏิรูปตำรวจนั้น ดูเหมือนว่าตำรวจจะยังคงเห็นว่าถ้าไม่ปฏิรูปก็ยังสามารถทำงานต่อได้ ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจต้องสรุปทบทวนกันพอสมควรและการปฏิรูปนี้ต้องทำให้ตำรวจไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในการปฏิรูปด้วยเช่นกัน”เลขาธิการครส. กล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจครั้งแรกซึ่งมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจเมื่อปี 2549 ได้มี 10 ข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจ ดังนี้ 1.กระจายอำนาจการบริหารคน 2.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ 3.การสร้างกลไกตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ 4.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจ 5.การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน 6.การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ 7.การพัฒนาการสรรหาการผลิต และการพัฒนาบุคลากรตำรวจ 8.การปรับปรุงเงินเดือนค่าตอบแทนและสวัสดิการ 9.การส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวนและ 10.การจัดตั้งหน่วยงานพัฒนากระบวนการยุติธรรม