เวทีระดมความเห็นนัดแรก รุมสับ “ร่างกม.ชุมนุมสาธารณะ” เละ
“อ.นิติฯ เอแบค” ชี้ชัดขัดรธน.-กำกวม-ไม่ครอบคลุม เป็นกม.กำจัดเสรีภาพการชุมนุม “สุริยะใส” จวกกม.ผิดธรรมชาติม็อบ มุ่งยึดโมเดลม็อบเหลือง-แดงเป็นสาระ เหน็บต่อไปต้องพับเพียบชุมนุม ส่วนตัวแทนสื่อฉะเป็นเผด็จการซ่อนรูป เชื่อห้ามก่อม็อบไม่อยู่เหตุตามไม่ทันเทคโนโลยีสื่อสาร
วันนี้ (8 ก.ค.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่องพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....ครั้งที่ 1/2553 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมีนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน นักการเมือง และภาคประชาชน ร่วมแสดงความเห็นและเสนอแนะแนวทางปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างคึกคัก
ช่วงแรก ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาจำเป็นต้องมีการกำหนดกฎหมายมากำกับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมให้ชัดเจน ขณะนี้รัฐบาลก็พิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้ว ซึ่งเรื่องกำลังอยู่ที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายสิทธิโชค ศรีเจริญ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กฎหมายนี้ต้องการจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม ควบคุมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และคุ้มครองประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมไม่ให้ต้องมารับผลกระทบ เป้าหมายสำคัญต้องการให้คน 3 ส่วนนี้อยู่ร่วมกันได้ ต้องการให้ม.63 ตามรัฐธรรมนูญเกิดการรองรับจริง รวมไปถึงพื้นที่ต่างจังหวัด โดยโจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การสร้างสมดุลในการชุมนุมจะทำให้อย่างไรให้เกิดการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน พร้อมแสดงความด้วย ไม่ควรนำโมเดลเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาเป็นแบบ เนื่องจากเป็นการชุมนุมเฉพาะกาลที่บังเอิญทำให้คนกรุงเทพรู้สึกว่าเดือดร้อนมากและต้องทำอะไรบางอย่าง
ส่วนนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ กล่าวถึงการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชนครั้งแรกในส่วนของภาคกลางในวันนี้นั้น จะนำข้อเสนอไปรวมกับอีก 4 เวทีระดมความคิดเห็น ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือ วันที่ 20 ก.ค. จะจัดที่เชียงใหม่ ภาคอีสาน วันที่ 9 ส.ค. ที่อุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ระยอง วันที่ 2 ส.ค. และภาคใต้ ที่จ.สงขลา วันที่ 17 ส.ค. โดยจะทยอยจัดให้ครบภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ และจะนำข้อเสนอความคิดเห็นทั้งหมดไปรวมกับข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชแห่งชาติ เพื่อจัดทำเป็นข้อสรุปต่อไป คาดว่าภายในเดือนต.ค.จะแล้วเสร็จ
จากนั้น มีการเปิดเวทีวิพากษ์ ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้มี 3 ปัญหาภายในตัวร่างเอง คือ 1.มีความสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เช่น ม.14 ในร่างฯ ระบุให้ต้องแจ้งการชุมนุม ซึ่งมีน้ำหนักออกมาในทางให้ขออนุญาตชุมนุมมากกว่า จุดนี้จึงขัดรัฐธรรมนูญม.29 เป็นการซ่อนรูปของการกำจัดเสรีภาพ ไม่ใช่จำกัด, ม.13 กำหนดให้ศาลเป้นผู้สั่งห้ามการชุมนุมได้ จุดนี้ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร เนื่องจากการสั่งห้ามชุมนุมนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครอง ตรงนี้เลวร้ายที่สุดจะทำให้ศาลทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเสียเอง เป็นต้น
"2.มีความไม่ชัดเจนของตัวร่างกฎหมาย เช่น ม.5 ยังกำกวม ไม่มีการกำหนดจำนวนคนขั้นต่ำในการชุมนุมสาธารณะ จึงไม่รู้ว่าแบบใดเข้าข่าย ขณะที่ ม.8 ระบุ “ห้ามกีดขวางทาง เข้าออกของสถานที่” ก็ยังกำกวมอีก รวมถึงม.16 ประเด็น คำจำกัดความ ผู้จัดการชุมนุมนั้นหมายถึงใคร ซึ่งได้คำนึงถึงกรณีชาวต่างชาติ เยาวชน หรือไม่ อีกทั้งกำหนดให้ผู้จัดชุมนุมต้องอยู่ร่วมการชุมนุมโดยตลอด แต่หากมีผู้จัดมากกว่า 10 คนจำเป็นจะต้องอยู่พร้อมกันหรือไม่ และ 3.มีความไม่ครอบคลุมของเนื้อหา ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยมาตรการสลายการชุมนุมเลย เช่น ม.20 ให้อำนาจการสลายการชุมนุมที่กว้างเกินไป เป็นต้น"
ดร.พรสันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในร่าง ม.4 ยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างครบถ้วน ซึ่งมีขอบเขตที่ทับซ้อนกันจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรมีกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ แต่ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ดี ก็ไม่ควรจะมี ที่สำคัญยังขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.29 ซึ่งกำหนดให้สามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะได้เท่าที่จำเป็นและไม่เกินกว่าเหตุเท่านั้น
"รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้กำจัดเสรีภาพ จึงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะมีการซ่อนรูปของการให้ต้องขออนุญาต เพื่อชุมนุมอยู่ ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งไม่ใช่แค่จำกัด”ดร.พรสันต์ กล่าว
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงความรับผิดชอบของรัฐ ขณะที่ธรรมชาติของการชุมนุมนั้นเกิดขึ้นตามสถานการณ์ ไม่ใช่แค่การวางแผนอย่างเดียว อีกทั้งจำนวนผู้ชุมนุมและตัวแกนนำก็ไม่สามารถนับได้แน่นอน ส่วนความรับผิดชอบของผู้จัดชุมนุมนั้นแม้ไม่มีกฎหมายนี้ ก็ยังมีกฎหมายอื่นที่เอาผิดได้อยู่ เช่น พ.ร.บ.จราจร และพ.ร.บ.ความสะอาด เป็นต้น
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายนี้ผิดหลักธรรมชาติของการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมที่หวังผลทางการเมืองในระดับสูงๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะต้องแจ้งการชุมนุมก่อน ดังนั้นจึงถือ เป็นร่างกฎหมายห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่ใช่ร่างการชุมนุมในที่สาธารณะ ต่อไปผู้ชุมนุมอาจต้องนั่งพับเพียบชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องขัดต่อธรรมชาติชุมนุมที่ต้องเรียกร้องและกดดัน ไม่เช่นนั้นการชุมนุมจะกลายเป็นแค่พิธีกรรม
“ร่างกฎหมายฉบ้บนี้ไม่ควรนำกรณีการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงมา เป็นโมเดลแก้ปัญหา เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือใหม่ในการจำกัดและกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนของรัฐ และไม่มั่นใจว่า การมีกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองความปลอดภัยให้บุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมได้ ซึ่งอยากให้มีการจำแนกการชุมนุมให้ชัดเจน ระหว่างการชุมนุมที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน กับชุมนุมทางการเมือง” นายสุริยะใส กล่าว และว่า ดังนั้นควรกลับไปทบทวนสางกฎหมายเก่าๆ ที่มีอยู่ 6-7 ฉบับจะดีมีประโยชน์กว่า
ส่วนนางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข รองประธานสภาวิชาชีพ สมาคมวิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากกฎหมายนี้มีเนื้อหา มีตัวหนังสือ มีวิญญาณของเผด็จการซ่อนรูปแฝงอยู่ในคราบประชาธิปไตย เช่น ม.21,22 ใช้ศาลเป็นตรารับรองการใช้อำนาจให้เป็นธรรมขึ้น ส่วนม.36 ระบุว่า การลงโทษจะไม่ลงโทษก็ได้นั้น สะท้อนว่าผู้ร่างกฎหมายไม่ได้ใช้ดุลยพินิจ เป็นต้น พร้อมแสดงความเป็นห่วงกรณีผู้ชุมนุมสามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อชุมนุมกันได้ โดยกฎหมายฉบับนี้ตามไปไม่ทัน ทั้งๆที่รัฐบาลรู้อยู่ว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร แต่กำลังเดินอ้อมกรอบนั้นไป
ด้านพ.ต.ท. เฉลิมชัย วงษ์เจียม พนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.นางเลิ้ง กล่าวว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติในพื้นที่การชุมนุมที่บ่อยที่สุดในกรุงเทพนั้นไม่เห็นด้วย กับร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุยึดการชุมนุมของพันธมิตรฯ และนปช.เป็นเนื้อหาสำคัญ ไม่ได้คิดถึงการมาชุมนุมเรียกร้องนั้นเพื่อขอความเป็นธรรมจากรัฐ รัฐกลับมองเชิงลบตั้งแต่แรกของการมาชุมนุม ขณะที่มีข้อจำกัดและห้ามผู้ชุมนุมทำในสิ่งต่างๆ แต่ไม่มีการกำหนดว่า ห้ามรัฐทำอะไรกับผู้ชุมนุมบ้าง กลายเป็นการคุ้มครองรัฐและมาจำกัดสิทธิการชุมนุมโดยตรง
“การจะออกกฎหมายฉบับนี้จึงอยากให้รัฐบาลเปิดใจ้ให้กว้าง อย่าใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิด้วยความบริสุทธิ์”พนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.นางเลิ้ง กล่าว
นอกจากนี้ในช่วงระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม ได้มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้ ควรกำหนดให้มีสถานที่สำหรับการชุมนุมโดยเฉพาะ, กำหนดให้รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม, ให้ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องนั้นๆ ต้องดำเนินการแก้ไขหรือเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดการชุนนุมยืดเยื้อทันที, เปลี่ยนชื่อร่างกฎหมายเป็น ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการชุมนุม ,เสนอให้รัฐใส่ใจแก้ไขปัญหาประชาชนจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมยืดเยื้อ ควรให้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมสามารถใช้สื่อของรัฐในการแสดงความเห็น และแสดงข้อเรียกร้องสิทธิได้ และเสนอให้มีการนิยมการชุมนุมแยกประเภทให้ชัดเจน ฯลฯ
เอกสารอ่านประกอบ
เอกสาร บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ...
บทความ เรื่อง เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เขียนโดย จันทจิรา เอี่ยมยุรา