เตือนรัฐบาลคงพรก.ฉุกเฉินไว้นาน คนเริ่มชินจนใช้ไม่ได้ผล
"สุรชาติ" ชี้ภัยความมั่นคงโลกยุคใหม่ ทั้งทางทหาร -สังคม-การย้ายถิ่น-ขาดอาหาร-แย่งทรัพยากร เตือนระวังอนาคตความขัดแย้งชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ด้าน "ปริญญา" บอกสังคมไทยต้องเคารพกติกา-มีผู้ตัดสินที่ยุติธรรมเหมือนฟุตบอล หวั่นความไม่สงบประทุอีกภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
วันนี้(4 ก.ค. 53) สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดบรรยายหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง(บสก.)รุ่น 2 โดย รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง“ภัยคุกคามความมั่นคงในโลกยุคใหม่” โดยแบ่งความมั่นคงออกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ความมั่นคงที่มีทหารเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องการปกป้องประเทศและภัยคุกคามต่างๆ และความมั่นคงที่ไม่เกี่ยวกับทหาร คือความมั่นคงทางสังคม เช่น คนกลุ่มน้อยที่กำลังถูกคุกคามด้านอัตลักษณ์ คนย้ายถิ่นทั้งภายในและข้ามรัฐ ดังกรณีคนอีสานประสบปัญหาภัยแล้งจึงมุ่งหน้าเข้าเมืองหางานทำ ความมั่นคงด้านทรัพยากร เช่น น้ำมันแพงทำให้อาหารแพง เป็นต้น
“ค.ศ.2008 มีข้อถกเถียงกันมากเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เมื่อมีผู้ออกมาต่อต้านการปลูกพืชพลังงาน เพราะเกรงว่าอาหารบริโภคจะไม่พอเพียง และพื้นที่เกิดสงครามส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเกิดในพื้นที่ที่มีน้ำมัน แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ อนาคตความขัดแย้งชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ปัญหาคือจะเริ่มจากตรงไหนของโลก ไม่มีใครรู้ สุดท้ายแล้วผู้ชนะคือผู้มีเงินในกระเป๋าที่จะใช้อาวุธต่างๆได้”
ดร.สุรชาติ กล่าวถึงความมั่นคงของชนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบมีปัญหามาก เนื่องจากวิธีแก้ปัญหาทุกประเทศทั่วโลกมีหลักการเหมือนกัน สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของรัฐบาลที่กระทำต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเริ่มจากการปราบ ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ ถึงจะเริ่มเจรจา แต่ในการเจรจาส่วนมากข้อต่อรองของชนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบ คือ ขอตั้งประเทศเอกราชใหม่ ให้ทำเป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งถ้ายอมรับข้อเรียกร้องไม่ได้ก็จะส่งกำลังไปตรึงพื้นที่เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ตอนนี้
จากนั้น ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง“วิเคราะห์กฎหมายรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย” โดยเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทยเหมือนการแข่งขันฟุตบอล มีกติกาจะช่วยให้สังคมมีขอบเขต แต่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหากลับใช้กำลังยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่อาจเรียกได้ว่า ประชาธิปไตย
“ประชาธิปไตย คือ ประชา+อธิปไตย = การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ระบบประชาธิปไตยจึงต้องมาจากประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน ดังนั้นการเลือกตั้งทุกกากบาทที่ลงไปถือเป็น 1 คะแนนเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นใครร่ำรวยขนาดไหน ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกันหมด แต่หลักความเสมอภาคนั้นก็ไม่ควรมีอยู่แค่ในคูหาเลือกตั้ง”
ดร.ปริญญา กล่าวถึงการสร้างสังคมให้มีความเสมอภาค ทั้งเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมาก เคารพต่อความเห็นของแต่ละฝ่ายก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ที่สำคัญการโหวตไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากจะเป็นการสร้างความแตกแยกให้สังคมเพราะมีคนแพ้และคนชนะ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากเนื่องจากความยาวที่มีถึง 44,765 คำ และถ้าให้อำนาจถ่วงดุลกันเองและทำให้รัฐธรรมนูญสั้นลงจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ปัจจุบัน ประชาชนยังขาดความเข้าใจกติกาทำให้ควบคุมการทำงานของภาครัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก
“ฟุตบอลมีการใช้กติกา ถ้าไม่มีกติกา ผู้แข็งแรงกว่าจะเป็นผู้ใช้กำลังจนผู้อ่อนแอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ดังนั้นการกำหนดกติกาเพื่อให้ทุกคนสามารถตัดสินปัญหาได้อย่างเท่ากัน แต่ถ้ามีกติกาแล้วไม่เคารพ ก็จะกลับไปสู่จุดที่ทะเลาะกันแล้วทหารมาล้มกติกา พร้อมบอกว่า มาเริ่มกันใหม่ ฉะนั้นผู้เล่นต้องเคารพกติกา และกรรมการต้องตัดสินด้วยความเป็นธรรม”
ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้ ส.ส. ไม่มีอิสระในการทำงาน ล่าสุดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังไม่ประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยชี้แจงว่าให้เลือก ระหว่างการคง พ.ร.ก.ไว้ แต่สังคมมีความสงบ กับบ้านเมืองไม่มี พ.ร.ก.แต่เกิดความไม่สงบอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ ต้องระวังว่าอาจเกิดความไม่สงบภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เพราะอำนาจยิ่งใช้ยิ่งหมดไป เมื่อคนเริ่มชาชิน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จะไม่มีผลอีกต่อไป