ดร.สมเกียรติอัดนโยบายสาธารณะ ไม่หาเสียง ก็หากิน
คิดแล้วขายให้ประชาชน แปลงกายเป็นประชานิยมติดลมบน ฉะมาตรการอุ้มปชช. "ไฟฟ้า-รถเมล์-รถไฟ ฟรี" วิเคราะห์แล้วกระทบคนวงแคบ ไม่ถือเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย แต่ก็ไม่ถึงขั้นเรียกว่า เป็นนโยบายที่ดี
วันนี้(3 ก.ค.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายเรื่อง “ความซับซ้อนของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายและผลตอบแทนส่วนเกินจากสัมปทาน” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงคำว่า คอรัปชั่นเชิงนโยบาย เกี่ยวโยงกับการออกกฎหมาย, มติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบคำสั่งต่างๆของรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเล็ก แต่เสียประโยชน์ในวงกว้าง แตกต่างจากการคอร์รัปชั่นเล็กๆน้อยๆ ระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ที่มีอยู่ทั่วไปในเมืองไทย
“คอรัปชั่นเชิงนโยบายเป็นกระแสติดปากประชาชนตั้งแต่ช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขบวนการมีตั้งแต่ขั้นตอนการออกกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานสำหรับโครงการขนาดใหญ่ หรือการแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกินจากสัมปทาน เช่น การออกแบบโครงการโดยกำหนดมูลค่าประมูลต่ำเกินจริง, การให้สัมปทานแบบไม่มีการแข่งขัน, การบริหารสัญญา, การแก้ไขให้เอกชนได้ประโยชน์เพิ่ม การยกเลิกสัมปทานโดยไม่มีการชดเชย”
สำหรับตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดระบบการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย รองประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คือระบบสัมปทานที่มีอยู่หลายแบบ ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะให้เอกชนสร้างกิจการ ให้บริการ ก่อนจะโอนให้รัฐเป็นเจ้าของ เป็นหัวใจของระบบรัฐไทย
“ค่าสัมปทานเป็นค่าตอบแทนที่เก็บจากผู้รับสัมปทานซึ่งได้ประโยชน์จากการได้สิทธิผูกขาดในระยะหนึ่ง รวมถึงสิทธิในการใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ ที่สำคัญจะช่วยลดผลตอบแทนส่วนเกินของผู้รับสัมปทาน ได้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งรัฐถึงเอกชน” รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างนโยบายรถเมล์ รถไฟ ไฟฟ้าฟรีว่า เป็นนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจเข้าไปดูแลประชาชน แต่ต้องมองให้ลึก ใครเสียประโยชน์บ้าง เช่น ขสมก. รฟท. และประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ และหากมองให้ลึกลงไปอีก รถร่วมบริการหรือรถเมล์ที่วิ่งในต่างจังหวัด ก็ต้องเสียฐานลูกค้า ขณะเดียวกัน เมื่อมองในภาพใหญ่นโยบายสาธารณะตัวนี้กระทบอยู่กับคนแคบๆ จึงถือว่า ไม่ใช่คอรัปชั่นเชิงนโยบาย แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เป็นนโยบายที่ดี
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงแก่นของนโยบายสาธารณะในประเทศไทย มีแค่ 2 ลักษณะ คือไม่หาเสียงก็หาเงิน คิดนโยบายไปขายให้ประชาชน จนกลายเป็นประชานิยม ซึ่งต่างจากคอร์รัปชั่น โดยได้ยกตัวอย่าง กรณีบ้านเอื้ออาทรที่รัฐสร้างบ้านให้คนอยู่ แต่ไม่ได้เตรียมเงินแก้ปัญหาให้การเคหะฯ ที่เจ๊งไป เหมือนทำเพื่อไปตายเอาดาบหน้าแทนที่จะคิดเรื่องความมั่นคงระยะยาว เป็นต้น
ช่วงสุดท้าย รองประธานทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ว่า ควรพิจารณาเลิกระบบสัมปทานให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยปรับไปสู่การแข่งขันเสรีในระบบอนุญาต ยกเว้นกรณีที่รัฐต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายต่อไป หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ระบบสัมปทาน ควรให้สัมปทานโดยการประมูลเป็นหลัก เพื่อให้ผลตอบแทนส่วนเกินของเอกชนกลายเป็นผลประโยชน์ของรัฐหรือผู้บริโภค, ร่างสัญญาสัมปทานให้รัดกุมที่สุด เพื่อลดดุลพินิจในการบริหารสัญญา, มีข้อกำหนดให้สามารถเจรจาต่อรองผลตอบแทนได้เฉพาะเมื่อเกิดเหตุที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้าเท่านั้น เพื่อป้องกันการประมูลโดยหวังที่จะเจรจาแก้สัญญาภายหลัง
“บังคับใช้กฎหมายการให้เอกชนเข้าร่วมอย่างเข้มงวดโดยลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝ่าฝืน ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาสัมปทานที่ผ่านมา และเจรจาให้เอกชนจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นแลกกับการที่คณะรัฐมนตรีจะช่วยให้ความเห็นชอบ หรืออาจฟ้องเรียกค่าชดเชยจากผู้สัมปทานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนออกกฎห้ามข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจรับตำแหน่งในบริษัทที่รับสัมปทานในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น 2 ปี ” ดร.สมเกียรติ กล่าว