ไม่ไกลเกินเอื้อม เครือข่ายสถาบันทางปัญญาเสนอพลิกฟื้นความยุติธรรมชุมชน
“ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” ยอมรับระบบยุติธรรมชุมชนวันนี้ยังเป็นเรื่องที่ท้ายทาย อยู่ในช่วงใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาลงไปถอดบทเรียน ด้านอดีตผู้ว่าฯ ยะลา ชี้ยุติธรรมชุมชน ช่วยตัดคดีไม่ต้องไปถึงโรงถึงศาล หากมีผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาเข้ามามีส่วนพูดคุย ไกล่เกลี่ยก่อน
เมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีการประชุม “ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ 36 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดีรังสิต ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานการประชุมร่วมกับนักวิชาการทำงานในนามเครือข่ายสถาบันทางปัญญา
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึง “ระบบความยุติธรรมชุมชน” ว่า เป็นบทเรียนให้คิด อะไรที่เอาออกจากชุมชนไปจะทำไม่ไหว ซึ่งแต่เดิมชุมชนจะดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องความยุติธรรมชุมชน จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้นำชุมชนทำหน้าที่คอยไกล่เกลี่ยเรื่องต่างๆ ก่อน แต่พอเราเลิกให้ความสำคัญกับชุมชน ทุกอย่างต้องเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ ภาระจึงไปตกอยู่ที่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา จนกระทั่งทำงานกันไม่ไหว มีคดีคั่งค้างเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหมดนี้เพราะเราเอาเรื่องยุติธรรมแยกออกมาจากชุมชน เข้าสู่ระบบยุติธรรมของรัฐ ดังนั้นควรนำเรื่องนี้กลับสู่ระบบความยุติธรรมของชุมชนเช่นเดิม
ด้านนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงระบบยุติธรรมว่า ถูกผูกขาดโดยระบบรัฐและราชการ แม้ว่า 5-6 ปีก่อนมีความพยายามผลักดันที่จะนำเรื่องความยุติธรรมกลับไปสู่ชุมชน โดยเริ่มทำอย่างจริงจังผ่าน 2 หน่วยงานหลัก คือ กรมคุมประพฤติ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จากนั้นก็เริ่มสอนให้ข้าราชการทำงานกับชุมชน และจัดตั้งเป็นศูนย์ยุติธรรมชุมชนขึ้น แต่เมื่อมีการประเมินผลเชิงปริมาณ ผลที่ออกมา ปรากฏว่า ข้าราชการไม่สามารถทำงานกับชุมชนได้ โดยเฉพาะข้าราชการที่เคยทำงานกับศาล ยังมีความมั่นใจว่า เป็นพนักงานของศาล ไม่มีกระบวนทัศน์ทำงานกับชุมชน ยังยึดติดกับอำนาจการทำงานตามกฎหมายเท่านั้น
“นอกเหนือจากที่สังคมไทยถูกรวมศูนย์โดยราชการแล้ว เรื่องของสังคมพึ่งพากันก็สำคัญ ชาวบ้านไม่ยอมรับว่า ตนเองมีพลังเพียงพอในการอำนวยความยุติธรรม เรื่องความยุติธรรมต้องขึ้นอยู่ที่ศาลเท่านั้น เป็นเวลา 60-70 ปี เราถูกทำให้เชื่อว้า ที่พึ่งสุดท้ายคือศาล อีกทั้งนักกฎหมายไทย ยังมีแนวคิดเชิงโครงสร้างแบบอำนาจนิยม เชื่อว่า กฎหมายเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องเฉพาะผู้เรียนมาเฉพาะทาง”
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า ประชาชนมองกฎหมายเป็นเทพเจ้า ไม่อาจท้าทายหรือร่างขึ้นมาเองได้ ทำให้ความเป็นเจ้าของไม่เกิดขึ้น ไม่เชื่อว่าตัวเองมีพลัง วันนี้ระบบยุติธรรมชุมชนก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย 50:50 ซึ่งต้องยอมรับความจริงในเชิงปริมาณ ยังไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการยังถอดบทเรียนออกมาไม่ได้ ขณะเดียวกันการใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาลงไปถอดบทเรียน ก็ไม่แรงเท่าทำเรื่องสุขภาพที่มีภาพที่ชัดกว่า
“กระบวนการยุติธรรมเจอกระบวนการของตุลาการ ประกอบกระบวนทัศน์ของชาวบ้าน ทำให้เจอ 2 เด้ง จึงเป็นเรื่องยาก และต้องชวนให้มีการปฏิบัติในพื้นที่จำนวนมาก เริ่มแรกอาจจะ 10 % หรือ 20 % แต่ในอนาคตหากมากขึ้น จะกลายเป็นความสำเร็จเล็กๆ เกิดเป็นการจัดการความรู้จากการปฏิบัติ จะเห็นช่องทางสว่าง และขยับไปต่อไปได้”
นายชาญเชาวน์ กล่าวถึงการให้ท้องถิ่นเขียนกฎหมายเอง ประชาชนเป็นเจ้าของด้วยตนเอง ไม่ใช่รอเพียงฟ้าประทาน ในกระบวนการที่ท้องถิ่นสามารถเขียนกฎหมายได้เองนั้น วิญญาณมีอยู่แล้วในเทศบัญญัติ ไม่เพียงการล่ารายชื่อตามที่รัฐธรรมนูญให้ เชื่อว่า หากชาวบ้านเข้าใจระบบความยุติธรรมชุมชนจริงๆ จะสามารถเขียนกฎหมายเพื่อชุมชน เพื่อตัวเขาเองได้ ทั้งนี้ อยากให้รัฐสภา สภาท้องถิ่น และสังคมไทยเห็น ว่า ยุติธรรมชุมชนไม่ใช่สิ่งที่เพ้อเจ้อ เทศบัญญัติเริ่มต้นแล้ว
“เราต้องการกฎหมายใหญ่ๆ ในสภากฎหมายเดียว คือ พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจประชาชน เกี่ยวกับเรื่องชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริง”
ขณะที่นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของภาคประชาชน จากเวทีโรดแมปภาคพลเมืองได้มีข้อเสนอหนึ่งใน 4 ข้อใหญ่ มีเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการให้รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือจัดทำกฎหมายต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม กลไกการเยียวยาช่วยเหลือจำเลย ผู้ต้องหา สนับสนุนให้เกิดนักกฎหมายชุมชน ให้ชุมชนมีที่พึ่ง รวมทั้งปรับปรุงเรื่องสิทธิเสรีภาพของจำเลย ผู้ต้องหา สิทธิในการเลือกทนายความ เป็นต้น
ส่วนนายกิตติ กิตติโชควัฒนา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวถึงระบบยุติธรรมชุมชน ถ้าผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการเยียวยา พูดคุย หาข้อยุติ ด้วยความปรารถนาดี บางคดีไม่ต้องไปถึงโรงถึงศาล แลจะสามารถลดคดีคั่งค้างในศาลได้อีกทางหนึ่ง