“สมเกียรติ” ชำแหละปัญหาใหญ่ระบบยุติธรรมไทย กำหนดโทษปรับต่ำเกิน
นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ โชว์งานวิจัยฉายภาพปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย เสนอปลดล็อค ปฏิรูประบบยุติธรรมทางอาญา แก้คดีล้นศาล-นักโทษล้นคุก ชี้ถึงเวลาสังคายนาโทษปรับสูงสุด ให้ขึ้นตามเงินเฟ้อ เชื่อจะป้องปรามการทำผิด-ฝ่าฝืนกม.ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอการวิจัยในโครงการ “นิติเศรษฐศาสตร์ของระบบยุติธรรมทางอาญา: ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในเวที “ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ 36 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน และนักวิชาการทำงานในนามเครือข่ายสถาบันทางปัญญาร่วมรับฟัง
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย จากตัวเลขในปี 2546 พบว่า มีการใช้งบประมาณรายจ่ายของตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ รวมกันถึงร้อยละ 1.27 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงกว่าประเทศเดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนนาดา ออสเตเลีย และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไทยเป็นรองแค่สหรัฐฯ ที่มีงบฯ รายจ่ายของระบบยุติธรรมทางอาญา รวมกันร้อยละ 1.38 ต่อจีดีพี
“สหรัฐฯ มีปัญหาคุกใหญ่ นักโทษล้นคุก ของไทยไม่แตกต่างกันมีกองทัพตำรวจใหญ่มโหฬาร ทำให้รายจ่ายงบฯ ตำรวจสูงถึงร้อยละ 0.81 ต่อจีดีพี โดยเฉพาะบุคลากรในระบบยุติธรรมทางอาญา ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ของไทย ในปี 2546 พบว่า มีจำนวนถึง 397 คนต่อประชาการ 100,000 คน ในจำนวนนี้เป็นตำรวจ 351 คนต่อประชาการ 100,000 คน”
ผอ.วิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เมื่อระบบใหญ่ก็ทำให้คดีคั่งค้างในศาลทุกระดับมีจำนวนมากขึ้น สั่งสมและพอกพูน ทุกปีคดีขาเข้ามากกว่าขาออก ขณะนี้ปัญหา คือ เมื่อศาลชั้นต้นเริ่มทำงานแข็งขัน คดีที่เป็นคอขวดย้ายจากศาลชั้นต้นไปที่ศาลอุทธรณ์ ความเดือดร้อนก็จะไปยังศาลฎีกา เป็นท่อต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีความพยายามนำการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องมาใช้แล้วก็ตาม
เมื่อดูผลการศึกษา จำนวนนักโทษของไทยตัวเลขปี 2546 พบว่า มีจำนวน 339 คนต่อประชากร 100,000 คน สหรัฐฯ 690 คนต่อประชากร 100.000 คน มาปี 2550 จำนวนนักโทษของไทยลดลงเหลือ 165,316 คน หรือลดลงเหลือ 253 คน ต่อประชากร 100.000 คน ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่เหมือนกันสหรัฐฯกับไทยสาเหตุของนักโทษล้นคุกส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด ซึ่งกฎหมายบางฉบับปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดคดียาเสพติด ในฐานะอาชญากร มากกว่าในฐานะเหยื่อ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยนี้ถูกวิจารณ์ไปสนใจเรื่องประสิทธิภาพ ขณะที่คนในวงการกฎหมายเห็นว่าประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความเป็นธรรมสำคัญที่สุด ซึ่งงานวิจัยนี้ต้องการบอกว่า ความเป็นธรรม และประสิทธิภาพแยกกันไม่ได้ รวมทั้งเห็นว่า วงการยุติธรรมให้น้ำหนักเคารพความเป็นธรรมมาก แต่กลับสนใจเรื่องประสิทธิภาพน้อยเกินไป เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม (Justice delayed is justice denied)
“การออกแบบระบบกฎหมายเป็นอย่างไร แรงจูงใจที่มีต่อพฤติกรรมของคนก็ไม่เหมือนกัน กรณีของไทย การเลือกฟ้องทางอาญานั้นช่วยลดต้นทุนของผู้เสียหายลงได้ เนื่องจากรัฐเข้ามาอุดหนุนในการฟ้องคดีอาญา ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อพฤติกรรมของคนในการเลือกฟ้องดำเนินคดีทางอาญามากขึ้น ส่งผลอาจทำให้เกิดการดำเนินคดีอาญาสูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสม”
ส่วนการลงโทษปรับและการจำคุกนั้น ผอ.วิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การปรับมีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการลงโทษที่ไม่เป็นตัวเงิน แต่การจำคุก จะเกิดความสูญเสียทั้งที่เป็นตัวเงิน และเสียอิสรภาพ มีตราบาปติดตัว ทั้งนี้ หากเป็นสถานการณ์ที่เลือกได้ระหว่างปรับกับการจำคุก เพื่อให้ได้ผลในการป้องปรามเหมือนกัน การปรับจะเป็นวิธีที่ดีกว่า ในมุมของเศรษฐศาสตร์ แต่บางกรณีเป็นอาชญากรรมร้ายแรง การจำคุกก็ยังสำคัญอยู่
“ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ระดับการปรับที่เหมาะสม คือ ทำความเสียหายเท่าไหร่ ควรถูกปรับเท่านั้น เป็นหลักการคล้ายกับภาษีสิ่งแวดล้อม เพราะในกระบวนการยุติธรรม มีต้นทุนในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งของตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งต้องนำมารวมคิดกับค่าปรับด้วย หากเปรียบโทษปรับเป็นสินค้า ก็ถือว่าเป็นสินค้าชนิดเดียวที่ไม่เคยมีการปรับราคาขึ้น เป็นเวลากว่า 50 ปีโทษปรับที่ต่ำเกินไป ทำให้ไม่เอื้อในการป้องปรามการกระทำผิด ”
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยจากการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า มี 3 เรื่อง 1.ใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาทมากเกินไป เมื่อศาลจะตัดสินระบบกฎหมายไทยก็ยังออกแบบให้ศาลสั่งให้คนเข้าคุกมากกว่าการปรับ 2.กำหนดโทษปรับต่ำเกิน จนแทบไม่มีผลในการป้องปรามการกระทำความผิดและไม่สามารถป้องปรามการละเมิดกฎหมายได้ 3. ศาลมักลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก พบการลงโทษปรับเฉพาะในคดีการพนัน (ร้อยละ 76) และคดีอาวุธปืน (ร้อยละ 13.5)
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกา ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ศาลมักจะลงโทษจำเลยด้วยการจำคุกเกือบทุกกรณีที่ศึกษา ศาลจะลงโทษปรับก็ต่อเมื่อตัดสินให้ลงโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษ และที่ศาลการเน้นลงโทษด้วยการจำคุกแทนการปรับ อาจมีสาเหตุมาจากความเชื่อที่ว่า การจำคุกน่าจะมีประสิทธิผลในการป้องปรามได้ดีกว่า หรือโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายต่ำเกินไป ไม่สามารถป้องปรามการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้รัฐมีต้นทุนสูง สร้างคุกให้อยู่ ผู้ถูกจำคุกสูญเสียเสรีภาพและโอกาสในการประกอบอาชีพ ทั้งที่หลายกรณีกระทำความผิดไม่ได้มีลักษณะในเชิงอาชญากรรมร้ายแรง
สำหรับข้อเสนอแนะในการปฏิรูประบบยุติธรรมทางอาญา ผอ.วิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ควรพิจารณาลดบทบัญญัติที่กำหนดโทษอาญาให้เหลือเท่าที่จำเป็น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายควรทบทวนกฎหมายโทษอาญากว่า 350 ฉบับว่าฉบับใดไม่จำเป็นต้องมีโทษอาญา ,เพิ่มโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายให้สูงขึ้นอัตโนมัติตามเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำโดยการออกพระราชบัญญัติมา 1 ฉบับ แก้ไขกฎหมายย้อนหลัง,เพิ่มทางเลือกในการลงโทษ ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ (Community Service) ,ลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรม ใช้มาตรการยุติความขัดแย้ง ส่งเสริมให้มีการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาทในคดีความผิดเล็กน้อยให้มากขึ้น ให้อัยการมีบทบาทในการกลั่นกรองคดีที่เข้าสู่ศาล และเพิ่มแรงจูงใจในการฟ้องร้องในคดีแพ่ง ควรปรับปรุงแนวทางในการคิดค่าเสียหายในคดีละเมิดให้ครอบคลุมกับความเสียหายจริง พิจารณานำค่าเสียหายเชิงลงโทษมาใช้ในระบบกฎหมายแพ่งของไทย เป็นต้น