ทีมนักวิชาการสังเคราะห์ภาพ-เสนอแนวทางการแก้ปัญหา "ที่ดิน"
วันนี้ (28 มิ.ย.) โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย มูลนิธิชุมชนไท จัด เวทีสาธารณะ ปฏิรูปประเทศไทย เรื่อง “สภาประชาชน เดินหน้าแก้ปัญหาที่ดิน” เพื่อร่วมระดมความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายฯที่มีปัญหาที่ดิน และองค์กรสนับสนุน พร้อมทั้งร่วมเสนอปัญหา กระบวนการ แนวทางการแก้ไข และร่วมกำหนดก้าวในการผลักดันการแก้ปัญหาที่ดินร่วมกัน
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการแก้ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องง่าย แต่ต้องอยู่ภายใต้ความจริง โดยการทำฐานข้อมูลพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.หากประชาชนอาศัยอยู่ก่อน ต้องกันพื้นที่ออกไป ทำแนวเขตชัดเจน และใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความเป็นจริง 2.สำหรับคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ ทั้งจากการซื้อต่อ และการรุกพื้นที่เพิ่ม ควรมีการกำหนดระยะเวลา การพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่อย่างรอบคอบ จริงจัง นอกจากนั้น ในบทบัญญัติกฎหมายไม่ควรจะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพียงแค่เปลี่ยนคำนิยามในบางข้อกฎหมายเท่านั้นพอ
“หากทุกคนเคารพกฎหมาย การปฏิรูปประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ที่ต้องปฏิรูปเพราะมีการโกง ซึ่งการขับเคลื่อนต่อไป รัฐบาลต้องชัดเจนในทุกเรื่อง ส่วนของนโยบายของรัฐ หน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตาม และเร่งช่วยเหลือ ประชาชนฝ่ายเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด”พลเอกสุรินทร์ กล่าว และว่า หากประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้อง คนที่เคยโกงก็ไม่โกง แต่ต้องลุกขึ้นมาทั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่กล้าเบี้ยว จะเป็นการร่วมสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สุดท้าย คือ เรื่องศีลธรรมของมนุษย์ ถ้าไม่มีการปฏิรูปคนก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
ล้างความคิดชาวบ้านรุกป่า เป็นป่าไม้บุกรุกชาวบ้าน
ขณะที่นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงสิ่งที่ภาคประชาชนควรทำเพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเป็นสิทธิ์แท้จริงและเป็นสิทธิชุมชน ต้องให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับล้างแนวความคิดและล้างความเชื่อของรัฐบาลที่ว่า การที่ชาวบ้านถูกตราหน้าว่า ทำผิดกฎหมาย บุกรุกที่ดินของรัฐนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่าต้อง อาจไม่ใช่การบุกรุก แต่เป็นป่าไม้บุกรุกชาวบ้าน
ส่วนการที่ชาวบ้านโดนตราหน้าว่าใช้ความรุนแรง ในการประท้วง กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เกิดจากนายทุน นักธุรกิจ ใช้ความรุนแรงบุกรุกจนชาวบ้านกลายเป็นผู้ไม่มีที่ดินกิน รวมทั้งการโดนมองว่าเป็นคนเถื่อน ต้องทำให้เกิดการยอมรับว่า คนไทยพลัดถิ่น ชนพื้นเมือง เป็นคนไทยทั้งหมด มีสิทธิ์ในที่ทำกิน มีสิทธิ์ในการใช้ชีวิตในประเทศไทยเท่าเทียมกัน และต้องสามารถใช้อำนาจบังคับราชการปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายการจัดการที่ดินให้ได้ ทำให้เกิดพันธะสัญญาทำได้จริง ไม่เช่นนั้น กลายเป็นการปฏิรูปที่ล้มเหลว และเป็นเพียงไม้ประดับ
“ขณะนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นผู้นำการปฏิรูป จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องล้างอคติ กล้าทำ และใช้อำนาจในการเป็นนายกฯ นอกจากนั้น ต้องให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยและคณะกรรมการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ยอมรับได้ ต้องจัดการหน่วยงานที่โกง อย่างเร่งด่วน จัดการกับคนทุจริต และการใช้อำนาจฝ่ายบริหารต้องชัดเจน ไม่ให้นายทุนข้ามชาติ หรือนักการเมืองมาครอบครองเอาที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งทุกเรื่องรัฐบาลต้องทำจริง หากต้องการให้ปฏิรูปที่ทำกิน ต้องทำให้เกิดพันธะสัญญา”
4 ประเด็นใหญ่ ปัญหาที่ดินทำกิน
ส่วนนายนนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สังเคราะห์ภาพรวมจากประเด็นข้อเสนอของชาวบ้าน และร่วมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน ว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าที่ดิน คือ การไม่มีผู้แทนราษฎรที่คอยส่งเสียงจากประชาชนไปถึงรัฐบาล นับเป็นเสียงสะท้อนให้เห็นว่าระบบผู้แทนประเทศไทยล้มเหลว ซึ่งต้องคิดต่อว่า การมีระบบผู้แทนที่มาจากพรรคการเมือง เหมาะสมแล้วหรือยังสำหรับประเทศไทยขณะนี้
“การที่ประชาชนหาทางแก้ไขกันเอง แสดงว่าระบบผู้แทนไม่มีอยู่แล้วในระบบประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก จึงต้องตั้งคำถามว่า ต่อไปการเมืองจำเป็นหรือไม่ หากตั้งแค่นักการเมือง มาเป็นผู้บริหารประเทศ ประเทศก็กลายเป็นปัญหาดังเช่นทุกวันนี้ และเดินไปข้างหน้าต่อไม่ได้ ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบใหม่ จากผู้แทนภาคประชาชน ที่สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันได้จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าระบบตัวแทนจากพรรคการเมือง”
สำหรับปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน นายนนทวัชร์ กล่าวว่า เกิดจาก 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1.การกระจุกตัวของที่ดิน การถือครองที่ดิน ทั้งพื้นที่ทับซ้อนป่า ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งสร้างฐานข้อมูลการถือครองที่ดินให้ชัดเจน 2.เรื่องทับซ้อนที่ทำกินระหว่างป่าและรัฐ ต้องกำหนดเวลา สร้างกลไกการระงับข้อพิพาทขัดแย้ง 3.การออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบ อาจต้องมีการใช้วิธีการพูดคุยก่อนถึงชั้นศาล เรียกว่า องค์กร อนุญาโตตุลาการ 4.ปัญหารุกล้ำที่ดินของรัฐของคนชายขอบ ต้องออกกฎหมายเฉพาะมาแก้ไขอย่างชัดเจน
“ส่วนเรื่องของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่ประชาชนกำลังตั้งความหวังกันมาก ไม่แน่ใจรัฐบาลจะจริงใจหรือไม่ หากเพียงให้รัฐบาลใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไปจัดการ จะไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ครบกำหนดระยะเวลาการจัดตั้งแผนปฏิรูปประเทศไทยใน 3 ปี ซึ่งต่อไปอาจตอบไม่ได้ว่า คณะกรรมการชุดนี้จะทำงานอย่างไรหรือหากมีรัฐบาลชุดใหม่จะยังใช้กรรมการชุดเดิมอีกหรือไม่ ทางออกที่ดี คือ ควรที่จะผลักดันแนวคิดนี้ให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยจะได้ยั่งยืนต่อไป”
นายนนทวัชร์ กล่าวด้วยว่า การจะปฏิรูปจะให้ประชาชนสู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ทางวิชาการ เพื่อเอื้อต่อการสนับสนุนด้วย ช่วยให้เกิดองค์ความรู้ ที่ฝ่ายวิชาการต้องมาช่วย ไม่ทิ้งให้ประชาชนมารับต่อและแก้ไขปัญหาลำพัง
เชื่อม- สื่อสารให้เห็นความเดือดร้อน
ขณะที่ รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดูแลความเดือดร้อนของชาวบ้าน รัฐบาลต้องมีความจริงใจ และเอาจริง แสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปทุกส่วน ปฏิรูปคนจน ทำให้เป็นเอกภาพ ลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงการใช้คำพูดโวหารเท่านั้น นอกจากนี้ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นผู้แทน เข้าร่วมแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ตามสิ่งที่ได้พูดไป
“การปฏิรูปทุกเรื่อง สำคัญอยู่ที่เจ้าทุกข์เพื่อช่วยกันออกแบบปัญหาที่มาจากความต้องการอย่างแท้จริง ฐานใหญ่ คือความชอบธรรมที่ต้องพูดภาษาเจ้าทุกข์ ไม่ใช่ภาษากองหนุน อย่างนักวิชาการ โดยสิ่งที่เชื่อมโยงได้ คือ ต้องเชื่อมความเดือดร้อน สื่อสารให้เห็นความเดือดร้อน ปฏิรูปด้วยกลไกรัฐ ซึ่งหากจะปฏิรูปหน่วยงานราชการต้องวัดจากประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาคนจน ไม่ใช่เพียงดัชนีชี้วัดการทำงาน เอกสาร ขั้นตอนการทำงาน ทั้งนี้ ต้องปรับตัวชี้วัดที่ประสิทธิภาพ ว่าแก้ปัญหาได้แค่ไหน ให้เห็นปัญหาของเจ้าทุกข์ชัดเจน เพราะกระแสปฏิรูปไม่ใช่พื้นที่ฉวยโอกาสทางการเมือง แต่เป็นกระแสของสาธารณะ”
กรณีรัฐบาลอาศัยจังหวะนี้สะสางประเทศด้วยการปฏิรูปนั้น รศ.สุริชัย กล่าวว่า พื้นที่สังคมกำลังเปิดตัว การสื่อสารกับสังคมและการสื่อสารกับการเมืองจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถึงเวลาที่ทุกคนต้องผลักและยกระดับให้พื้นที่การเมืองเกิดขึ้นใหม่ ช่วยหาทางไม่ให้เกิดปัญหาคนจน ที่กำลังเป็นจุดบอดของประเทศ
“บ้านเมืองขณะนี้ปราศจากความจริงใจจากนักการเมือง จึงต้องอาศัยการพลิกตัวร่วมกัน จากที่ยังคิดแยกส่วนไม่บูรณาการ การเมินเฉยต่อมนุษยชน ไม่เปิดพื้นที่ให้พูดคุย ทำให้หลายฝ่ายที่เดือดร้อน เพื่อการันตีว่าทิศทางการพัฒนาต้องปฏิรูป งานภาควิชาการ งานภาคประชาชน ต้องมาโยงกัน เปิดพื้นที่ใหม่ ปฏิรูปตนเอง เริ่มจากกระแสของคนเล็กคนน้อย แล้วนำไปสู่ทิศทางการร่วมทุกข์ ร่วมสุขร่วมกัน”