ระดมความคิดเห็นร่าง พรบ.ความเสมอภาคระหว่างเพศ…ฉบับประชาชน
เวทีเครือข่ายภาคประชาชน เสนอแก้ไขร่างพรบ
วันนี้ (22 มิ.ย.) ณ ห้องกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการสุขภาวะผู้หญิง มูลนิธิผู้หญิง ศาลอาญา ธนบุรี เครือข่ายผู้หญิง เพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเฟม) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดเวทีสัมมนาและระดมความคิดเห็นร่าง “พระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ฉบับประชาชน” ซึ่งจะเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสฯ ฉบับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีเป้าหมายการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พร้อมมาตรการคุ้มครองและการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคในมิติต่างๆที่พรบ.ฉบับ พม.ไม่มีบัญญัติไว้
นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ธนบุรี ผู้ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ฉบับประชาชน กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนกับฉบับ พม. ว่า ฉบับประชาชนมีการแก้ไขเพิ่มเติม 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานของคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อให้เกิดการสั่งการในด้านนโยบายผูกพันจากส่วนกลาง 2.กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างเป็นอิสระ ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี (สนร.) 3.เพิ่มนิยามเรื่องการ “คุกคามทางเพศ” ซึ่งระบุชัดถึง “การส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ” ให้ความสำคัญแก่กลุ่มชายขอบและกลุ่มที่มีภาวะยากจน 4.เพิ่มเรื่องการปิดช่องว่าง “การเลือกปฏิบัติ” ที่มีข้อยกเว้นในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเปลี่ยนเป็นการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในทุกรูปแบบโดยไม่มีข้อยกเว้น 5.เพิ่มมาตรการคุ้มครองและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศต้องครอบคลุมมิติทางสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการเมือง และ 6.เพิ่มวิธีการเข้าถึงการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องและเยียวยา
“ความพิเศษของพรบ.ฯ ฉบับประชาชนนี้น่าจะอยู่ตรงมาตรการคุ้มครอง และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศที่ครอบคลุมมิติต่างๆตั้งแต่ในครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการเมือง ซึ่งไม่มีในฉบับ พม. ทำให้ผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่ในสังคม หรือแวดวงอาชีพใดก็ได้รับโอกาสในสิทธิพื้นฐาน ในหน้าที่การงาน หรือการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมมากขึ้น” นายวัชรินทร์ กล่าว
ด้านน.ส.ช่อทิพย์ ชัยชาญ ผู้จัดการโครงการสุขภาวะผู้หญิง สสส. กล่าวว่า ในการบรรลุความเสมอภาคเรื่องเพศ จำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามาเป็นเครื่องมือเสมือนเป็นหลักประกันความเหลื่อมหล้ำของหญิงชาย เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึง และการเยียวยาผู้หญิงในด้านต่างๆ การปรับแก้พ.ร.บ.ในฉบับประชาชนเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมพิจารณาสิ่งที่จะช่วยให้ผู้หญิงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การผลักดันกฎหมายให้เป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศนั้นเกิดขึ้นก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆในสังคม
ขณะที่นางศิริพร สะโครบาเนค ประธานมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า การปรับโครงสร้างของคณะกรรมการอาจเป็นอุปสรรคในการผลักดัน เพราะฉะนั้นอยากให้มีการให้ความรู้แลส่งเสริมสิทธิ์ผู้หญิงในมิติต่างๆให้ครอบคลุมในสังคม เพื่อให้การเข้าถึงสิทธิในเรื่องการจ้างงาน การศึกษา
ส่วนนายจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่บังคับใช้ในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในระบบราชการ เพราะผู้หญิงบางส่วนที่มูลนิธิให้ความช่วยเหลือ มักถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้บริหารระดับสูง แต่กลับไม่มีหน่วยงานเฉพาะให้ความช่วยเหลือ เอาผิดทางด้านวินัย ซึ่งหากหากพ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้น ก็จะเกิดองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือได้อย่างเป็นอิสระ
อย่างไรก็ตาม ดร.ผุสดี ตามไท จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สังคมยังยึดติดกับความเชื่อพื้นฐานที่หญิงชายไม่เท่ากัน แม้แต่ในรัฐสภา เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณะชน ซึ่งแรงกดดันจากสังคมจะทำให้สภาฯ ให้ความสนใจ ขณะเดียวกันก็อยากให้สื่อมวลชนเปิดพื้นที่ให้ประเด็นเหล่านี้ ส่วนร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนที่เสนอมาประกบร่างฉบับ พม.นั้น อาจมีความยากลำบากในการแก้ไขเนื้อหาทั้งหมด สิ่งที่ทำได้คือ การช่วยเสริมให้ข้อกฎหมายมีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น
น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง มูลนิธิธีรนารถกาญจนอักษร เสนอให้เกิดการสร้างกลไกการตรวจสอบมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้หญิงให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนเดินหน้าและสื่อสารไปยังสื่อมวลชนว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมนั้นมีอยู่มาก
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชาชนและสังคม ม.มหิดล เสนอให้มูลนิธิเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ สำรวจและรวบรวมกรณีศึกษาที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิด และไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างยืนยันซึ่งใช้ในการผลักดันร่างพรบ.ฉบับประชาชนเข้าสู่สภา ขณะเดียวกันก็เสนอให้มีคณะกรรมการฯผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อความเป็นสากลและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลกลางด้านการส่งเสริมด้านความเสมอภาคชายหญิง สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวง พม. ได้สรุปสถานการณ์สตรีในรอบปี 2553 พบว่า
- กลุ่มสถิติสตรีกับความรุนแรงนั้น ล่าสุดพบว่า ตั้งแต่ปี 2547-2552 มีประเภทความผิดในคดีข่มขืนกระทำชำเรา มีร้อยละเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้ 1.มีการแจ้งความเพิ่มขึ้นร่วม 6 เท่า (จาก 568 เป็น 3,375 คดี) 2.มีการจับกุมเพิ่มขึ้นกว่า 21 เท่า (จาก 89 เป็น 1,900 คดี) และมีร้อยละการจับกุมเพิ่มขึ้นร่วม 3.5 เท่า (จาก 15.66 % เป็น 56.29%) โดยกลุ่มเด็กและสตรีกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศหลักที่เพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2546-2550 นั้นมีจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 (จาก 6,056 เป็น 10,094 คดี)
- กลุ่มสตรีในการมีส่วนร่วมในการบริหารราชการ พบว่า ในระดับผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งปลัดกระทรวงนั้น มีผู้หญิงก้าวสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงไม่ถึง 1 ใน 4 ของผู้บริหารทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการด้านความยุติธรรมและคดีนั้น พบว่า กลุ่มข้าราชการตุลาการ ผู้หญิงเพียง 2 คนในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และประธานแผนกคดีจากตำแหน่งระดับสูงทั้งหมด 70 คน ขณะที่สัดส่วนผู้หญิงในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่ดีจากปี 2548-2552 คือ จาก 45 % เป็น 55 %
- กลุ่มสตรีกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในการสรรหาและเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2550-2556 จากการเลือกตั้ง (จังหวัดละ 1 คน รวม 76 จังหวัด) และการสรรหาทั่วประเทศ (74 คน) พบว่า ผู้หญิงได้รับการคัดเลือกเพียง 16.22 % และ 15.7 % ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โอกาสที่ให้ผู้หญิงเข้ามีบทบาทในการตัดสินใจในระดับนโนบายหรือระดับชาติยังมีสัดส่วนน้อย