ปมเสื้อแดง นักวิชาการชี้ชัดต้องการเรียกร้อง 'สิทธิ-ความเท่าเทียมทางการเมือง'
'ประภาส' มองเสื้อแดง ไม่ใช่รากหญ้าแต่เป็นยอดหญ้า เป็นมวลชนอีกมิติหนึ่ง ต่างจากการเมืองภาคปชช. ผุดขึ้นเพราะมีพื้นที่ทางการเมือง ชีวิตสัมพันธ์กับหัวคะแนน นักเลือกตั้ง 70% ผ่านการชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว “อภิชาติ” สรุปปมเสื้อแดง ต้องการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องความเหลื่อมล้ำ-ยากจน ด้าน “ชัยวัฒน์” เตือน รบ.ใช้วาทกรรมการก่อการร้าย อันตราย หวั่นเกิดสงครามไม่มีที่สิ้นสุด
วันนี้(14 มิ.ย.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จัดสัมมนา "มิติใหม่ในการชุมนุมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย : กรณีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 61 ปีคณะรัฐศาสตร์ โดยมีผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา
เริ่มต้นผศ.ดร.อภิชาติ กล่าวถึงการไปสอบถามความเห็นของประชาชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจ.นครปฐมจำนวน 100 ตัวอย่าง ช่วงหลังเหตุการณ์ 10 เม.ย.เพื่อทำศึกษาว่า กลุ่มคนเสื้อเหลือง กลุ่มคนเสื้อแดง คือใคร และได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมในช่วงที่ผ่านมาอย่างไร พบข้อสรุปสามารถนำมาอ้างอิงได้ว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่คนจน แต่จนกว่าคนเสื้อเหลือง,ทั้งคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลือง คิดว่าตัวเองคือคนชั้นกลาง ไม่ใช่คนจน,ความยากจนในภาวะวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ปัญหาของคนเสื้อคนแดง, ความขับข้องใจของคนเสื้อแดงมีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่, คนเสื้อเหลืองมีทัศนคติ ต่อปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และทางเศรษฐกิจมากกว่าคนเสื้อแดง
"ความคับข้องใจของคนเสื้อแดงมีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ แดงนครปฐม รู้สึกว่าสังคมไม่ได้อยุติธรรมในเชิงชนชั้น คิดว่าตนสามารถแข่งขันกับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมได้ตามขีดความสามารถ เช่นเดียวกับแดงเชียงใหม่ก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนกลุ่มคนเสื้อแดง จังหวัดอุบลราชธานี ที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าตัวเองไม่มีเส้นสาย ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเพราะมีฐานะยากจน รู้สึกว่าสังคมมีการแบ่งชนชั้นและไม่มีความเป็นธรรม หรือยากที่จะเข้าถึงความเป็นธรรมเท่าเทียม เรียกว่าเป็นปมอีสาน เช่นเดียวกับคนเสื้อเหลืองในอีสานก็มีปมอีสานเช่นกัน"
ส่วนการใช้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมในช่วงที่ผ่านมา อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ตามความเห็นของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งจ.นครปฐมพบชัดเจนมากในกรณีของโครงการ30 บาทรักษาทุกโรค ที่คนเสื้อแดงใช้ประโยชน์โครงการ 81% และคนเสื้อเหลืองได้ใช้ 54% รวมถึงโครงการกองทุนหมู่บ้านซึ่งจะเห็นว่านโยบายประชานิยมได้ถูกออกแบบเพื่อทำให้ช่วยรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของคนในสังคมชนบท นโยบายเหล่านี้ตอบรับต่อความต้องการทางเศรษฐกิจในสังคมชนบท
“ในชนบทไม่ใช่สังคมชาวนา ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยที่พึ่งพาตนเอง หรือผลิตเพื่อกิน เหลือกินแล้วขายอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่สังคมสมานฉันท์รักใคร่ กลมเกลียวเอื้ออาทรแบบในอดีต วันนี้วิถีชีวิตสมัยใหม่ทำให้ระบบแบบเดิมพังทลาย แตกสลาย ไม่ช่วยเหลือกัน ขณะที่นโยบายประชานิยม ก็โดนใจคนเสื้อแดง เพราะออกแบบมาทำให้ชาวบ้านมีหลักประกัน มีแหล่งเงินกู้ ตอบรับต่อวิถีชีวิตเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นโมเดิร์นไลฟ์สไตล์ของชาวบ้านซึ่งโดนใจจริงๆ โดยเฉพาะ 30 บาท ค่ารักษาพยาบาลกลายเป็นประเด็นใหญ่ ตรงกับอาชีพคนเสื้อแดงที่อยู่นอกระบบประกันสังคมทุกชนิด และไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ"
กรณีคนเสื้อแดงมาประท้วงนั้น ผศ.ดร.อภิชาติ กล่าวว่า บ้างก็คิดว่า มาชุมนุมต่อต้าน 2 มาตรฐาน ต่อต้านรัฐประหาร และต่อต้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่จากแบบสอบถาม ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้ถูกเลือก จึงสรุปได้ว่าความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่มีสาเหตุจากด้านเศรษฐกิจน้อย แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและความเทาเทียมทางสิทธิทางการเมือง
ขณะที่ผศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า หากดูคนเสื้อแดงจะพบว่า ไม่ใช่รากหญ้า แต่เป็นยอดหญ้า ที่เข้ามาสัมพันธ์กับเศรษฐกิจการตลาด ไม่ใช่ชาวนารายย่อย แต่เป็นคนยอดหญ้าที่ทำมาหากิน มีชีวิตผูกพันกับวิถีการผลิต อยู่กับนโยบาย การที่คนเสื้อแดงมาชุมนุมจึงไม่ได้เป็นตามทฤษฎีถูกจูงมา เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีชีวิตที่สัมพันธ์กับการเมือง ชีวิตอยู่ไม่ได้หากไม่ได้ต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆของรัฐ ซึ่งในช่วงที่ประชาธิปไตยเต็มใบนั้นทำให้คนกลุ่มนี้ได้กินและใช้ประโยชน์จากสิทธิทางการเมือง จากการเลือกตั้ง
ผศ.ดร.ประภาส กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงในช่วงหลัง 10 เม.ย.ที่สะพานผ่านฟ้าจาก 400 ตัวอย่าง พบว่า คนเสื้อแดงรู้สึกและยอมรับว่า ได้ใช้ประโยชน์จากประชานิยมจริง และมองว่าต้นเหตุของการชุมนุมเกิดจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ฉะนั้นถ้าจะถามว่า ใครคือคนเสื้อแดง ก็ต้องบอกว่า การเกิดขึ้นของคนเสื้อแดง มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับนโยบายทางการเมือง เป็นมวลชนอีกมิติหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพราะมีพื้นที่ทางการเมือง ชีวิตสัมพันธ์กับหัวคะแนน นักเลือกตั้ง จนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ ทำให้ชีวิตสามารถทำมาหากินได้มากขึ้น ซึ่งกว่า 70% ผ่านการชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว ซึ่งต่างจากการเมืองภาคประชาชน แบบสมัชชาคนจน ชาวนา ชาวไร่ ที่เดือดร้อน
ด้านศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึง 4 มิติใหม่ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง คือ 1.เกิดความโกรธ ขบวนการประชาชนที่เกิดขึ้นกำลังเต็มไปด้วยอารมณ์ซึ่งทำให้เราไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ 2. การเกิดข่าวลือที่เป็นอาวุธที่ทรงพลังในสถานการณ์ความขัดแย้ง เพราะข่าวลือทำให้เกิดความไม่แน่นอน เกิดพื้นที่ไม่ชัดเจน อยู่นอกโฟกัส ทำให้การทำงานของรัฐลำบากขึ้น เช่น กรณีถ้ามีคนเสื้อแดง 3 พันคนเดินออกจากวัดปทุมวนารามวรวิหาร พร้อมเรื่องราว 3 พันเรื่อง ข่าวลือกำลังทำงานพร้อมเรื่องเล่าขนาดใหญ่ เพิ่มความเข้มข้น เปิดโอกาสให้แต่ละคนเพิ่มตอนต่างๆ เข้าไป เกิดการผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ จนควบคุมไม่ได้ ซึ่งการปิดกั้นสื่อ การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเงื่อนไขให้ข่าวลือเผยแพร่ง่ายและมากขึ้น
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า 3.สีเสื้อกลายเป็นอัตลักษณ์ในการนำความโกรธและเกลียดไปใส่ไว้ในคนที่ไม่เห็นด้วยกันเรา ทำให้เราวัดคนบนฐานของสัญลักษณ์ที่แต่ละคนใช้ สิ่งที่ตามมาคือการเพิ่มการแบ่งขั้วในสังคมไทยมากขึ้นและเป็นอันตรายมาก และ 4. การก่อการร้าย สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การผลิตความรุนแรง หากอยู่ที่การผลิตความกลัว ผลิตความไม่แน่นอนของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งรบกวนชีวิตทางการเมืองของสังคม ทำให้สังคมการเมืองอยู่ลำบาก ชีวิตที่เป็นปกติก็จะหายไป
"ทุกครั้งที่รัฐบาลใช้วาทกรรมการก่อการร้าย ทราบหรือไม่ว่า คุณลักษณ์ของการก่อการร้ายคือ สงครามที่ไม่มีการสิ้นสุด ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะกำลังสู้กับวิธีการ ซึ่งต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้จากประเทศอิสราเอลที่ป้องกันคนไม่ให้คนเป็นผู้ก่อการร้าย แปลว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องมีสติควรหาวิธีเคลียร์คนไม่ให้กลายเป็นผู้ก่อการร้าย”