ดึงทุกฝ่ายเข้าร่วม ไม่กันใครออก ‘เกษียร’ เชื่อเลี่ยงได้สงครามการเมือง
นักรัฐศาสตร์ มธ. แนะหลีกเลี่ยงความรุนแรง-สงครามกลางเมือง ต้องดึงทุกฝ่ายเข้าร่วมภายใต้กระบวนการสันติวิธีทางรัฐสภา ไม่กันใครออก ทั้งอดีตนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิ อดีตผู้ก่อการร้าย แม้มีเป้าหมายอุดมการณ์ต่างกัน จี้รัฐยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว หวั่นยิ่งไปตอกย้ำ 2 มาตรฐาน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรบริหารสื่อมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 2 มีรศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยาย หัวข้อ "ทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย" โดยวิเคราะห์ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยหลังเหตุการณ์เดือนเมษายน และพฤษภาคม
รศ.ดร.เกษียร กล่าวถึง 4 แนวรบที่เกิดขึ้น คือ 1.เกิดแนวรบในรัฐสภา ทำให้รัฐสภาพิการ ชะงัก หวังเป็นตัวจุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เสียงข้างมากที่เกิดขึ้นจะไม่มีอำนาจนำในสังคม และไม่มีฉันทามติร่วมจากเสียงข้างมาก ดังนั้นการต่อสู้ในรัฐสภาจึงไม่ใช่ความหวัง 2.แนวรบบนท้องถนน เหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้การต่อสู้บนท้องถนนของคู่ขัดแย้งทางการเมือง ฝ่อลง จะทำได้ยากขึ้นและน้อยลง เนื่องจากไม่มีหลักประกันว่าจะไม่โดนปราบ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก่อการร้ายใต้ดินและวินาศกรรม แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เพราะกระบวนการเหล่านี้ต้องมีทุนและบุคคลที่เข้มแข็ง 3.แนวรบที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ และ 4.แนวรบในสร้างคนแนวร่วมสนับสนุนที่เป็นเครือข่ายภายในกองทัพและ ส่วนภาคราชการ เครือข่ายทหารแตงโมหรือในราชการอ่อนกำลังลง ยากที่จะฟื้น เนื่องจากการโยกย้ายที่ผ่านมา ขณะที่กองทัพจะยังถูกแทรกแซงทางการเมือง
“เหตุการณ์เมษาฯ-พฤษภาฯ อำมหิตทำให้แนวโน้มสุดโต่งทางการเมืองเด่นชัดขึ้น คือ รัฐบาลจะเกิดปรากฎการณ์ ‘สุดโต่งปราบแหลก’ คุมเข้ม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่รัฐรู้สึกว่าต้องทำ แม้คนกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยรู้สึก แต่สิ่งนี้ตอกย้ำคนที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกกำจัดสิทธิ ซึ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องสองมาตรฐานหนักหน่วงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ ‘สุดโต่งด้วยอาวุธใต้ดิน’ ดังนั้น รัฐบาลควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที” อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าว และว่า ในอนาคตจะเกิด 2 แนวโน้มนี้ชัดเจน ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง หรือเกิด อำนาจนัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ใครก็ตามที่ปิดล้อมรัฐบาลก็จะต้องถูกปราบโดยรัฐจะอ้างอำนาจนี้ ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็จะเกิดแนวโน้มอนาธิปไตย หรือเกิดอนาธิปไตยของฝ่ายค้านนอกสภา
กรณีอยากหลีกเลี่ยงสภาพสงครามกลางเมืองหรือเหตุความรุนแรงทางการเมืองนั้น รศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า ต้องดึงทุกฝ่ายเข้าร่วมภายใต้กระบวนการสันติวิธีทางรัฐสภา ไม่กันใครออก แม้จะมีเป้าหมายอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน แต่ตราบที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดกว้าง ทั้งอดีตนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิ อดีตผู้ก่อการร้าย ซึ่งยังมีวิธีการเปลี่ยนคนเหล่านี้ให้สามารถต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ ประเด็นวันนี้ คือ ต้องทำให้ทะเลาะกันต่อโดยไม่ฆ่ากัน และคงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีกระบวนการนิรโทษกรรม เพื่อทำให้ขบวนการเหลือง แดง และทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีฉันทามติร่วมกัน อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงการต่อสู้อย่างสันติวิธี คือ การชนะด้วยใจ เปลี่ยนใจของคู่ต่อสู้ทีละคน โดยไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าต้องมีการเจ็บก็ต้องยอมเจ็บเสียเอง การเปลี่ยนใจคู่ต่อสู้ ที่สำคัญอย่าดูหมิ่นศักดิ์ศรีของเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะสีใด ก็ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
ช่วงก่อนเหตุการณ์เดือนเมษาฯ-พฤษภาฯ อำมหิตนั้น อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เกิดการเปลี่ยนย้ายอำนาจขึ้นมีลักษณะการเปิดเสรีและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมเปลี่ยน และเกิดปรากฎการณ์กลุ่มคนชนชั้นใหม่ขึ้นมา เกิดการแข่งขันช่วงชิงทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำเดิมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มคนชนชั้นใหม่ที่เรืองอำนาจขึ้น ส่วนความคิดทางการเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย เห็นได้จากกรณีพันธมิตรฯ ที่เกิดพรรคการเมืองใหม่ และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เกิดพรรคเพื่อไทยขึ้น ซึ่งส่งผลเกิดฝ่ายบริหารท่ามกลางกระแสเสรีนิยมใหม่กับประชานิยม และหากความคิดทั้งสองผลักไปถึงสุดโต่ง ฝ่ายพันธมิตรฯ อาจกลายเป็นระบอบเสรีไม่ประชาธิปไตย และฝ่ายนปช.อาจกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยไม่เสรี เนื่องจากฝ่ายแรกเชื่อว่าประชาธิปไตยเกิดจากเอ็นจีโอกับตุลาการภิวัฒน์ ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย
“ สังคมเกิดโจทย์ทางการเมืองเปลี่ยนไปจากระบอบทักษิณและเกิดความขัดแย้ง ระหว่างสี ประเทศไทยแยกขั้วเกิดคะแนนเสียงคนชั้นกลาง ชาวเมืองระดับกลาง สูง และชนชั้นนำที่ส่วนใหญ่ต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ เผชิญหน้ากับคะแนนเสียงคนชั้นกลางระดับล่างในชนบทและคนชาวเมืองที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดอคติเชิงภูมิภาคที่คงเส้นคงวา คือ คะแนนเสียงภาคกลางและใต้ต่อต้าน ส่วนคะแนนเสียงภาคเหนือและอีสานสนับสนุน” รศ.ดร.เกษียร กล่าว และว่า ระบอบทักษิณเข้าใจคนที่ว่ายน้ำอยู่ในทุนนิยมเสรี ทำให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนสามารถดำเนินนโยบายสนองตอบผลประโยชน์ของประชาชน ผู้เลือกตั้งโดยตรง เปิดช่องทางโอกาสฐานทุน เงินกู้ให้ชาวบ้านประคองตัวอยู่รอด มีชูชีพให้ลอยตัวในตลาดทุนนิยมได้ และพอมีหวังสู้แล้วรวยได้ในเศรษฐกิจทุนนิยม
ส่วนผลของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสี ตั้งแต่ปี 2548 -ปัจจุบัน รศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า ทำให้เกิดปรากฎการณ์ใหม่ของการก้าวข้ามเส้นแบ่งเดิมในสังคมการเมืองไทย หรือก้าวข้ามเส้นแบ่งแบบดี-เลว เกิดการก้าวข้ามเส้นแบ่งและเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างการเมืองบนท้องถนนกับรัฐสภา และเกิดการก้าวข้ามเส้นแบ่งและคลุมเครือกลืนกลายกันระหว่างการเมืองบนท้องถนนกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ เกิดขบวนการทางการเมืองของมวลชนระดับชาติ 2 ขบวนที่เป็นปฏิปักษ์กัน และเป็นเอกเทศ อิสระจากรัฐซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ อีกทั้งสังคมการเมืองสูญเสีย ฉันทามติ ระบบการเมืองขาดพร่องความชอบธรรม เกิดการขัดแย้งแยกขั้ว ความรุนแรง การก่อการร้ายทางการเมือง สงครามกลางเมือง รัฐล้มเหลว อนาธิปไตย เผด็จการ ฯลฯ ซึ่งต้องถาม เราจะปรับระบอบและสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้รับมือกับความเป็นจริง ใหม่เหล่านี้ได้
รศ.ดร.เกษียร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะปราศจากอำนาจนำในสังคม ไม่มีพลังฝ่ายใดสามารถกุมอำนาจนำในสังคมการเมืองไทย ไม่มีฝ่ายใดสามารถนำพลังฝ่ายอื่นให้ยินยอมพร้อมใจที่จะทำตามโดยไม่ใช้กำลัง บังคับหรือเปลี่ยนใจคู่ต่อสู้ด้วยแนวทางสันติได้ คือ ทุกฝ่ายยังขาดความสามารถในการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของผู้ตาม ให้ยอมปฏิบัติตามโดยไม่ต้องบังคับ