เจาะระบบเลือกตั้งไทย 'ปริญญา'เสนอใช้ระบบสัดส่วนแบบเยอรมนี
'ส.ว.ดิเรก' เชื่อแก้กม.เลือกตั้งก็ล้อมคอกซื้อเสียงไม่อยู่ จี้รัฐบังคับสอน 'วิชาการเมืองการปกครองระบอบปชต.' คนไทยทุกระดับตั้งแต่เด็ก หวังฝังรากจิตสำนึกหวงแหนสิทธิ ด้าน 'ปริญญา' ให้สังคมตั้งโจทย์ก่อน ประเทศไทยต้องการการเมือง และการเลือกตั้งแบบใด มั่นใจเมื่อสรุปได้เรื่องการนับคะแนน วิธีการก็จะตามมา
วานนี้ (1 มิ.ย.) ในเวทีอภิปรายวิชาการ 'เจาระบบเลือกตั้งไทย' จัดโดยสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อระดมความเห็นหาแนวทางสร้างระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน
ดร.ดิเรก ถึงฝั่ง ประธานกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาของระบบการเลือกตั้งไทยว่า เกิดจากมีการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้นมาตลอด แม้จะมีความพยายามในการแก้ระบบเลือกตั้งหลายครั้ง หรือกระทั่งตัวรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีการกำหนดบทลงโทษขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องซื้อเสียงได้ ดังนั้นปัญหาวันนี้คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้ได้ส.ส. หรือส.ว.ที่ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ต้องร่วมกันสร้างระบบการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ
ประธานกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า หลักการหนึ่งคนมีสิทธิหนึ่งเสียง ไม่ใช่หนึ่งเสียงแล้วเลือกได้หลายคน ประเด็นนี้คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองฯ เห็นว่าระบบการเลือกตั้งควรเป็นแบบเขตเล็ก เขตเดียวเบอร์เดียว เชื่อว่า จะทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถควบคุมดูแลง่ายขึ้น คนไม่มีเงินก็สามารถชนะได้ด้วย ซึ่งการตามแก้กฎหมายไม่มีทางสำเร็จได้ หากคนยังซื้อสิทธิขายเสียง ดังนั้นต้องแก้ที่จิตสำนึกของประชาชน แก้โดยการให้ความรู้กับประชาชน
“ต้องนำวิชาการเมืองการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยเข้าไปสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นให้ฝังรากลึกตั้งแต่เด็ก ให้เกิดความเข้าใจ มีจิตสำนึกที่จะหวงแหนสิทธิของตนเองด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งระดับอุดมศึกษาที่ทุกคณะต้องสอนวิชานี้เป็นภาคบังคับอย่างละเอียดและลึกซึ้ง รวมถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจและเตรียมทหาร ต้องให้การศึกษาตั้งแต่รากหญ้าขึ้นมา ถ้าคนเข้าใจการเมือง ประชาธิปไตยว่าคืออะไร ถ้ารู้ว่า ปัญหาการเดินขบวนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ที่หมายถึงอำนาจผลประโยชน์ คนก็จะมีจุดเดือดในการปฏิวัติและรัฐประหารช้าลง”
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ต้องสอนวิชาการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ดร.ดิเรก กล่าวว่า 70 กว่าปีที่ผ่านมาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยไม่เคยมีบทเรียนเรื่องจริยธรรม วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่สอนในโรงเรียน แม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้เป็นวิถีชีวิตของคนไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นระบอบที่ดีที่สุด ถือว่าเลวน้อยที่สุดในระบอบการปกครองแบบอื่นๆ
ด้าน รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ กล่าวถึงระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า ทำให้เกิดรัฐบาลและพรรคการเมืองที่มีเสถียรภาพมากเกินไป ขณะเดียวกันระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่สามารถทำให้เกิดได้ทั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและผลการเลือกตั้งที่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ดังนั้น สังคมไทยต้องกำหนดร่วมกันก่อนว่าประเทศไทยต้องการการเมือง และการเลือกตั้งแบบใด ต้องการการเลือกตั้งเพื่อทำให้ได้การเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือต้องการผลการเลือกตั้งที่ตรงตามเจตนารมณ์ เมื่อประเด็นนี้สรุปได้เรื่องการนับคะแนน วิธีการก็จะตามมา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การเมืองที่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลมีเสถียรภาพมากก็ใช้ระบบเลือกตั้งเสียงข้างมากธรรมดาเขตละคน ซึ่งพิสูจน์มาแล้วทั่วโลก แต่ถ้าต้องการให้สภาฯสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งประเทศแท้จริงอย่างเท่าๆ กัน เพื่อให้ความขัดแย้งของทั้งสังคมสะท้อนในสภาฯ ก็ควรใช้ระบบสัดส่วนที่มีจุดแข็ง คือ ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกตั้ง ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าควรใช้ระบบสัดส่วนกำหนดจำนวนส.ส.ในสภาของแต่ละพรรค เช่น กรณีของประเทศเยอรมนี ทั้งนี้เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนที่แท้จริง โดยคิดคะแนนภาพรวมของทั้งประเทศก่อนว่า แต่ละพรรคจะได้ส.ส.จำนวนเท่าใด จากนั้นค่อยกระจายดูในแต่ละเขตตามสัดส่วนออกมาเป็นจำนวนที่นั่งของแต่ละพรรค
"สภาพความขัดแย้งในสังคมขณะนี้มีสูงมาก ดังนั้นสภาฯ ควรสะท้อนออกมาว่า พรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปปัตย์ตามความต้องการประชาชนแล้ว ควรต้องมีจำนวนส.ส.เท่าใด"รศ.ดร.ปริญญา กล่าว และว่า ระบบเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกำหนดว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ถ้าประชาชนเลือกเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนแปลงทันที
และหากต้องการให้การเมืองเข้มแข็ง ให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียวหรือสองพรรค รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ให้ใช้ระบบเสียงข้างมากธรรมดาเขตละคนทั้งหมด ที่พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยเสนออยู่ ก็จะนำไปสู่ระบบการเมืองที่มีพรรคการเมืองสองพรรค เช่น ที่เคยใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้งปี 2544 เป็นครั้งแรกที่ทำให้พรรคการเมืองไทยเหลือ 4 พรรค จาก 9พรรค ซึ่งระบบนี้พิสูจน์แล้วทั่วโลก เช่นเดียวกับกรณีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่มีสองพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ที่นานครั้งจะมีพรรคที่สามเข้ามาเป็นรัฐบาลผสม และหากต้องการให้รัฐสภาเป็นที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน โดยให้แต่ละพรรคมีจำนวนส.ส.ตรงตามที่ประชาชนเลือกก็ควรใช้ระบบการเลือกตั้ง แบบระบบสัดส่วน
"ระบบเลือกตั้งเสียงข้างมากธรรมดาเขตละคนทั้งหมดนั้น ข้อดีทำให้เกิดการเมืองที่มีเสถียรภาพมาก พรรคใดได้เสียงมากกว่าก็ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่มีรัฐบาลผสม แต่ข้อเสียคือประชาชนจะเหลือทางเลือกแค่เป๊ปซี่หรือโค้ก พรรคทางเลือกจะเกิดขึ้นได้ยากมาก รัฐบาลจะเข้มแข็งเกินกว่าความเป็นจริง ขณะที่ฝ่ายค้านก็จะอ่อนแอเกินไป และผลการเลือกตั้งจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งที่ดีก็ช่วยแก้ปัญหาให้เกิดความสำเร็จของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของคนที่ทุกประเทศทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องทำการศึกษาเรื่องการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วย สิ่งที่เราขาด คือ การฝึกให้คนเคารพผู้อื่นและเคารพกติกาตั้งแต่เด็กตามวัยของเด็ก”