เครือข่ายภาคประชาสังคม จี้รัฐจริงใจตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง
ยันการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ สำคัญไม่แพ้ การเยียวยา ฟื้นฟู ชี้ปล่อยให้พูดหลายกลุ่ม ปากต่อปาก จะทำให้ข้อเท็จจริงกระจัดกระจาย ยิ่งตอกย้ำความเกลียดชังในสังคมไทยมากขึ้นยิ่งขึ้น
วันนี้ (25 พ.ค. ) เวลา 11.00 น. เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายธุรกิจ และเครือข่ายชุมชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรงทางการเมือง ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาลต้องเปลี่ยนความเกลียดชังให้เป็นความรัก ความเข้าใจ เปลี่ยนคนที่เป็นศัตรูกันมาเป็นมิตรกัน ซึ่งกระบวนการที่จะเปลี่ยนตรงนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ เพราะหลายฝ่ายยังมีความสับสนกับข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมด และยังส่งผลทำให้ยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง แตกหักขึ้นเรื่อยๆ
“การที่ปล่อยให้มีการพูดเรื่องต่างๆนานา จากหลายกลุ่ม ปากต่อปาก จะทำให้เรื่องของข้อเท็จจริง กระจัดกระจาย รวมทั้งไปตอกย้ำความเกลียดชังกันมากยิ่งขึ้น”นายนิมิตร กล่าว และว่า แถลงการณ์ของเครือข่ายภาคประชาสังคม มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ โดยสิ่งที่ต้องการมากที่สุดในตอนนี้ คือ การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระมาช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรรมการก็ควรเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เป็นกลาง และตรวจสอบได้ด้วย แม้วันนี้รัฐบาลกำลังเร่งเยียวยาในด้านอื่นๆ อยู่ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือการตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งรัฐบาลยังนิ่งเฉย ไม่มีความคืบหน้า
ด้านนายสุรศักดิ์ อินทรประสิทธิ์ เครือข่ายพลเมืองกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการได้ลงพื้นที่จริงในช่วงสถานการณ์ความรุนแรง พบว่า บางรายที่เสียชีวิต ยังถูกนับรวมอยู่ในจำนวน 88 รายที่เสียชีวิต จากข้อมูลสถิติที่มาจากจากกระทรวงสาธารณสุข ยังมีหลงเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง และก็มีผู้ที่บาดเจ็บอีกมาก ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ รัฐบาลต้องร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือภาคชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่จริง ไปสำรวจส่วนที่ยังตกหล่นไม่ได้รับแจ้ง เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถือเป็นเรื่องความยุติธรรม ความเสมอภาค สิ่งนี้จะไปช่วยละลายคำว่า สองมาตรฐานได้
ขณะที่นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น จุดสำคัญ คือ ความโปร่งใส และไม่ควรเหมือนกับการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่ได้ข้อเสนอเรียกร้องจากคณะกรรมการฯ จำนวน 6 ข้อ ต่อรัฐบาลเท่านั้น
“สิ่งที่เราต้องการคือ มีข้อเท็จจริงเป็นระยะๆ และคณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งมา ก็ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นกลางที่สุด และอยากให้ทุกฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชน เข้าไปร่วมด้วย อาจไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร แต่ให้ออกมาอธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ทุกคนด้วย มาอธิบาย เปิดเผย ว่ามีอะไรถูกต้อง และโปร่งใส จะนำมาสู่แนวทางปรองดอง”
ส่วนนางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ สำคัญมาก เพราะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุม อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของสังคม เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วันนี้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารยังมีความบกพร่อง มีความเข้าใจผิดไปคนละทิศทาง โดยเฉพาะกับพี่น้องในชุมชน ต่างๆทั่วประเทศ จะได้เข้าใจเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข่าวลือ
สุดท้ายนางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร เลขาธิการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความจริงที่เปิดเผยต้องแยกระหว่างผู้ก่อการร้ายและผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นความแค้นจะยังอยู่และไปทำร้ายคนอื่นที่มีความคิดแตกต่าง การตั้งคณะกรรมการอิสระฯ ขึ้นมา แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐ ซึ่งเชื่อว่า การให้ความจริงต่างๆ จะช่วยแก้ปัญหาความโกรธเกลียดที่ฝังรากอยู่ในแต่ละคนได้ ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายเสื้อแดง
ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาสังคม, เครือข่ายเยาวชน, เครือข่ายธุรกิจและ เครือข่ายชุมชนเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรงทางการเมือง มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.คณะกรรมการอิสระ ควรประกอบด้วยบุคคลจากทุกภาคส่วนซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม และต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรงทางการเมือง
2.คณะกรรมการอิสระ ต้องสืบค้นแสวงหา ความถูกต้อง ทั้งทางนิติรัฐ ทางคุณธรรม จริยธรรมในการปกครอง เพื่อที่จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทุกปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เป็นปฏิบัติการที่มีทางเลือกอื่นๆ หรือไม่
3.คณะกรรมการอิสระต้องมีอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารทุกระดับชั้น ผู้ชุมนุมสื่อมวลชน และประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์มาให้ข้อเท็จจริง
4.คณะกรรมการอิสระต้องนำผลการตรวจสอบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากแพทย์ผู้เกี่ยวข้องเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นระยะ
5.คณะกรรมการอิสระต้องเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อความโปร่งใส ในจังหวะและเวลาอันควร
6.คณะกรรมการอิสระต้องมีมาตรการปกป้องคุ้มครองพยานผู้มาให้ถ้อยคำทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
7.รัฐบาลต้องนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระ เพื่อดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองโดยเน้นการสร้างความยุติธรรมลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง ขจัดเงื่อนไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง และสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ
8.รัฐบาลต้องสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณให้เพียงพอกับการทำหน้าที่เป็นอิสระของคณะกรรมการอิสระ
9.รัฐบาลจะต้องแยกแยะคดีการเมืองกับคดีอาชญากรรม รวมทั้งแยกแยะความหนักเบาของคดีตามข้อเท็จจริง ระหว่าง (1) คดีก่อการร้าย ก่อจลาจล ครอบครองอาวุธ การวางเพลิง กับ (2) การเข้าร่วมชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ การฝ่าฝืนเคอร์ฟิวส์ ออกจากกัน กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องแยกแยะระหว่าง (1) ผู้ที่ก่อเหตุด้วยอารมณ์โกรธแค้นเฉพาะหน้า กับ (2) ผู้ที่จงใจวางแผนก่อเหตุวินาศกรรมและมีเจตนาใช้ความรุนแรง เพราะหากไม่คำนึงถึงหลักเมตตาธรรม มีการออกหมายจับคนจำนวนมากโดยไม่แยกแยะระหว่างผู้ตั้งใจก่ออาชญากรรม กับ ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง การไปสู่ความปรองดองดังที่นายกรัฐมนตรีต้องการก็จะไม่สามารถปรากฏเป็นจริงได้ ในทางกลับกันมีแต่จะสร้างกระแสความหวาดผวา คับแค้น โกรธเกลียดในหมู่ประชาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม นปช. ซึ่งมีอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ