'เลขาธิการกก.สิทธิฯ' ปิดทาง ‘ยูเอ็น’ แทรกแซงสถานการณ์ไทย
เหตุไม่มีอำนาจ ห่วงตกเป็นเครื่องมือของคู่ขัดแย้ง-ละเมิดอธิปไตย พร้อมปลุกรบ.แสดงความจริงใจ จับมือ ‘กก.สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ’ ไขข้อเท็จจริงหลังเหตุการณ์สงบ
วันนี้ (17 พ.ค.) นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่จะให้สหประชาชาติเข้ามามีบทบาทยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า ไม่อาจทำได้ เพราะขณะนี้สหประชาชาติไม่มีอาณัติหรืออำนาจหน้าที่ที่จะกระทำเช่นนั้นได้ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ และอาจถือว่าจะเป็นการเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศและเป็นการละเมิดอธิปไตยของรัฐ
นพ.ชูชัย กล่าวว่า การที่สหประชาชาติจะเข้าไปแทรกแซงในประเทศหนึ่งประเทศใดโดยง่ายเป็นสิ่งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในความขัดแย้งได้ จนถึงขั้นที่เข้าไปละเมิดอธิปไตยของประเทศต่างๆ และทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า การเมืองในเวทีของสหประชาชาติยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติอันประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจต่างๆ
สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น นพ.ชูชัย กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังเทียบไม่ได้กับในหลายประเทศที่เคยมีการส่งกองกำลังของสหประชาชาติเข้าไป แต่ก็มิได้หมายความว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นยอมรับได้ สิ่งที่พึงกระทำและสามารถกระทำได้เลย โดยไม่ต้องหวังพึ่งกลไกภายนอก คือ ให้ทุกฝ่าย ไม่ว่ารัฐบาล นปช. กลุ่มพลังต่างๆ เช่น กลุ่ม คนเสื้อหลากสี เครือข่ายพันธมิตร ฯลฯ ตลอดจนองค์กรอิสระ เครือข่ายภาคประชาสังคม ควรร่วมกันผลักดันหาทางออก เนื่องจากบุคคลภายนอกย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเงื่อนไข ความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีเท่ากับคนไทยด้วยกันเอง
เลขาธิการกสม. กล่าวอีกว่า สหประชาชาติคือองค์กรที่เป็นที่รวมของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกเข้ามาร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ ป้องกันความขัดแย้ง ระหว่างรัฐ ฉะนั้นการที่สหประชาชาติจะเข้าไปดำเนินการในประเทศใดๆ ย่อมจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกเสียก่อน การที่กองกำลังของสหประชา ชาติจะเข้าไปในประเทศหนึ่งประเทศใดได้ สถานการณ์ความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องกระทำอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและเข้าขั้นร้ายแรง และต้องมีข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ของสหประชาชาติที่จะให้กองกำลังของสหประชาชาติ เข้าไปในประเทศนั้นๆ เพื่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นยุติลง
เลขาธิการกสม. กล่าวด้วยว่า รัฐบาลเมื่อไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้วก็ควรดำเนินการที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศต่างๆ คือ เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยลงรัฐบาล ควรประกาศให้ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้แก่ ผู้เสนอรายงานพิเศษ (special rapporteur) ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีฯ ที่ต้องการได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือแม้แต่ต้องการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจากฝ่าย ต่างๆ เพื่อแสดงความจริงใจของภาครัฐ ในส่วนของกสม.ก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลไกเหล่านี้ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏต่อทั้งสังคมไทยและสังคมโลก