‘ปฏิรูปประเทศ’คำตอบที่ยั่งยืนแก้ปัญหาความไม่ธรรม
นายกฯ อภิสิทธิ์ ย้ำชัดวันนี้ไม่มีแนวทางอะไรดีไปกว่ายุติการชุมนุม หวั่นการชุมนุมที่ไม่เป็นแนวทางของการสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีแต่จะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมนิยมความรุนแรง ไร้ระเบียบ ไร้กฎหมาย สุดท้ายคนยากจนจะเดือดร้อนมากสุด
วันนี้ (16 พ.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ศาลากิตติสุข กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 68 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยให้กระทรวงศึกษาธิการประสานไปยังกรุงเทพมหานครเลื่อนการเปิดเทอมไปเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และเพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต้องตกเป็นเหยื่อ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เตรียมพิจารณาประกาศเคอร์ฟิวส์ เพราะมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือกองกำลังที่ติดอาวุธ ใช้อาวุธสงคราม มีการยิง M79
“วันนี้การชุมนุมกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ได้เป็นแนวทางของการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นแนวทางในการที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม มีแต่จะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่นิยมความรุนแรง เป็นสังคมที่ไร้ระเบียบ ไร้กฎหมาย และสุดท้ายคนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดก็คือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคนยากคนจน”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ไม่มีแนวทางอะไรดีไปกว่าการยุติการ สำหรับแผนการปรองดอง 5 ข้อนั้น เป็นแผนที่จะมีคำตอบสำหรับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน และมาชุมนุมด้วยเหตุผลที่มีเหตุมีผลจริง ๆ เพราะฉะนั้นน่าจะปล่อยให้ตรงนี้ได้เดินต่อไป ส่วนเรื่องของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทางด้านการศึกษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้มีการดำเนินการไป ส่วนการแก้ไขปัญหาให้คนยากคนจน โดยเฉพาะในเรื่องที่ทำกิน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็สามารถที่จะเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องของโฉนดชุมชนได้ ทำให้เรื่องนี้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีกฎหมายหรือกฎระเบียบรองรับ แม้กระทั่งตัวกฎหมายทั้งในเรื่องของ สสส.การศึกษาก็ดี ในเรื่องของโฉนดชุมชนก็ดี ก็จะได้มีการดำเนินการเพื่อเสนอต่อสภาฯ ต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนในเรื่องของแผนปรองดองว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินหน้าไป ส่วนแรก คือ แผนที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปฏิรูปประเทศไทย ที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ตรงนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ วันที่ 12-13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเชิญองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรนั้นเข้ามามีส่วนร่วม จนได้ข้อยุติระดับหนึ่งแล้วว่าจะมีการจัดตั้งกลไกในลักษณะของการขับเคลื่อนโครงการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจะมีการผ่านการทำสมัชชาฯในวันที่ 20 พ.ค.นี้
“สาระสำคัญในการที่จะทำในเรื่องของการปฏิรูปประเทศไทย นั่นก็คือเรื่องตั้งแต่ปัญหาของความเหลื่อมล้ำในเรื่องของโอกาส ปัญหาที่ถือว่าด้อยโอกาสที่สุดในเรื่องที่ทำกิน ในเรื่องหนี้สิน มีการหยิบยกวางกรอบไปแล้ว เรื่องของปัญหากฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่มีความยุติธรรมในปัจจุบัน และรวมไปถึงในเรื่องของทัศนคติและการทำงานขององค์กรภาครัฐ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ของข้าราชการ ในลักษณะซึ่งเราจะต้องช่วยกันทำให้ข้าราชการมีทัศนคติของการเป็นผู้ให้บริการประชาชนมากกว่ามีความรู้สึกว่าเป็นเจ้านายของประชาชน ทั้งหมดนี้มีการดำเนินการมีความก้าวหน้าไป และก็จะไปเกี่ยวพันถึงปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น การแสวงประโยชน์ที่มิชอบ ทั้งโดยนักการเมือง ทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นการทำลายโอกาสของประชาชน สร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ตรงนี้จะเป็นคำตอบที่เป็นระบบและยั่งยืนที่สุดในเรื่องของปัญหาความไม่ธรรมหรือความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย”
ส่วนเรื่องที่ 2 ในเรื่องของสื่อ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้เชิญองค์กรทางด้านสื่อที่เป็นองค์กรวิชาชีพเข้ามาคุย และก็มีแนวทางซึ่งมองเห็นตรงกัน ขณะนี้ก็คือมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดในเรื่องของการตรากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่จะมาใช้อำนาจในการดูแลกำกับสื่อสารมวลชน นั่นก็คือองค์กรอิสระ คาดว่า จะสามารถเข้ามาจัดระเบียบได้มากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของสื่อต่าง ๆ ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องของโทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุชุมชน และสื่ออื่น ๆ ซึ่งกำลังจะต้องการให้มีการทำงานคู่ขนานกันไปกับการทำงานขององค์กรวิชาชีพสื่อเอง
“ในส่วนของการเมือง เริ่มต้นทีเดียวนั้นปัญหาเรื่องของรัฐธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ ผมได้ขอความร่วมมือเพื่อที่จะเสนอไปยังสถาบันพระปกเกล้า แต่ว่าคณะกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้านั้นยังมีความไม่สบายใจอยู่ว่า จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้และมีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ขณะนี้ผมก็รอคำตอบที่เป็นทางการ ซึ่งจะเป็นมติของสภาสถาบันพระปกเกล้า แต่หากว่า ทางสถาบันพระปกเกล้านั้นไม่ต้องการที่จะมีบทบาทในเรื่องนี้ ก็กำลังเตรียมที่จะหารือกับบรรดานักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ว่าพร้อมที่จะมาทำหน้าที่ในลักษณะของรูปแบบของคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จะมาขับเคลื่อนเรื่องนี้หรือไม่”