'โคทม อารียา'เร่งรบ.-นปช.เดินกลับสู่โต๊ะเจรจา เสนอตั้งทูตฝ่ายละคน
เชื่อ วันเดียวก็ทำได้ถ้าจะทำ จัดคนกลางตรงไปตรงมาเป็นพยาน เขียนบทกำกับให้ชัดกัน 2 ฝ่ายเบี้ยว แนะรบ.คิดใหม่-หยุดยิง นปช.อย่ายึกยัก-ติดแค่เรื่อง 'สุเทพ' ส่วน 'กก.สิทธิฯ' ออกแถลงประณามเหตุรุนแรงหลังการลอบสังหาร 'เสธ.แดง' พร้อมกดดันทุกฝ่ายกลับโต๊ะเจรจา ลั่นใครปฏิเสธเท่ากับเจตนาทำร้ายชาติ
วันนี้ (14 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงเหตุการณ์การลอบสังหารพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ของคืนวันที่ 13 พ.ค.ว่า เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดนำให้ไปสู่ความรุนแรง วิธีการของสันติวิธีหรือปรองดองนั้นอาจถูกลืมไปบ้าง แต่ยังไม่หมดความหวัง โดยยังเชื่อว่าทำได้เสมอ แม้แต่การสู้รบหนักๆ สูญเสียหนักที่อื่นก็ยังหยุดยิงและพูดคุยกันได้ ดังนั้นเรายังไม่หมดหวังถึงจะยิงกันอย่างไรต่อไปก็ต้องฟื้นฟูอยู่ดี
"ขณะนี้แกนนำนปช.ต้องเปลี่ยนความคิด และรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนความคิดด้วย แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากก็ตาม รัฐบาลควรจะชะลอหรือหยุดยิงไว้ก่อน อย่าเพิ่งปล่อยกระสุนมากนัก ฝ่ายนปช.ก็อย่ายึกยักมากนักและควรกลับไปที่ตั้ง"
ดร.โคทม กล่าวถึงการพยายามตกลงร่วมกันระหว่างฝ่ายนปช.และรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาเชื่อว่ามีการตกลงกันได้บ้างแล้ว 90% ซึ่งเหลือ 10% ที่ไม่ค่อยสำคัญ เช่น การที่จะทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายสุเทพเองก็มีความรู้สึกว่า ได้ทำแล้ว แต่นปช.บอกว่า ที่ทำแล้วไม่ใช่ ตนก็รู้สึกว่าที่ผ่านมาการพูดคุยกันนั้นเข้าใจกันคลาดเคลื่อน นายสุเทพก็เดินตามบทหนึ่ง นปช.ก็บอกว่า บทที่เล่นนี้ตบตา ไม่ใช่บทที่เข้าใจกัน ก็เลยล่มตรงนั้นอย่างน่าเสียดาย และที่ผ่านมาก็ไม่มีคนกลางประสานสื่อสารให้ชัดเจนจริงๆ กับสังคมด้วย
สำหรับทางออกเบื้องต้นในขณะนี้ ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีข้อเสนอว่าต้องอาศัยคนกลาง ซึ่งคนกลางในที่นี้ หมายถึง อาจจะต้องมีการตั้งฑูตทั้งฝ่ายนปช. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 1 คน เพื่อมาร่วมประสานข้อตกลงของเสียงทั้งสองฝ่าย มานั่งเขียนบทให้ละเอียดชัดเจนจากการถามฝ่ายรัฐบาลว่าต้องการแบบนี้หรือไม่ และถามฝ่ายนปช.ด้วย ต้องเน้นย้ำกับฝ่ายนปช.ว่า ถ้ามีบทแบบนี้แล้วจะต้องไม่มีบทเพิ่มขึ้นอีก ให้แต่ละฝ่ายเดินตามบทนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการสื่อสาร ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมา
"ถ้ามีการเบี้ยวก็จะได้รู้ว่า คุณเบี้ยว เพราะมีการตกลงกันมั่นเหมาะแล้ว คนกลางตรงนี้ต้องเขียนบทให้ละเอียด โดยไม่ใช่จินตนาการเขียนขึ้นเอง ต้องฟังจากทั้งสองฝ่ายว่าต้องการแบบใด ระบุให้ชัดเจนเท่าใดบ้างที่ต้องการ เมื่อเห็นตามบทนี้พ้องต้องกันแล้ว คนกลางก็จะได้เป็นพยานรู้เห็น เพราะที่ผ่านมาสื่อสารไม่เข้าใจ เขียนบทไม่ละเอียด จึงไม่รู้ว่าใครเบี้ยวบทหรือไม่ ควรต้องรีบทำภายใน 2-3 วันนี้ เพราะยืดเยื้อไปก็ไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ก็เชื่อว่าว่าถ้าจะตกลงกันจริงๆ แล้วภายในวันเดียวก็ทำได้” ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี กล่าว และว่า ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับหลักการนี้ก่อน ต้องช่วยกันประคับประคอง เนื่องจากขณะนี้แผนปรองดองถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย ดังนั้นต้องเร็วในการตกลงกันสู่การเจรจา
เมื่อถามว่าคนกลางควรเป็นใคร ดร.โคทม กล่าวว่า คนกลางในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนที่ต้องเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร หรืออยู่ลอยๆ เลย ไม่ได้หมายความให้เน้นตรงนี้ แต่ต้องหมายถึงคนที่ต้องประสาน ต้องเป็นคนที่สามารถคุยกับนปช.ได้คนหนึ่ง และคนที่สามารถคุยกับรัฐบาลได้อีกคนหนึ่ง ต้องเป็นคนที่ตรงไปตรงมา เห็นอะไรก็สามารถพูดออกไปตามนั้นได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์การชุมนุมอีกครั้งหลังพบว่า มีการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงสูงสุด คือ ถึงขั้นเสียชีวิต มาเป็นระยะๆ จนกระทั่งล่าสุดในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 โดยคณะกรรมการสิทธิฯ ประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงอีกครั้ง หนึ่ง ซึ่งหากเหตุการณ์เหล่านี้ยังดำเนินต่อไป คาดว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง และความแตกร้าวยิ่งขึ้นในสังคมไทยจนยากที่จะเยียวยา อันเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทุกฝ่ายไม่ปรารถนา
คณะกรรมการสิทธิฯ จึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก หยุดการเผชิญหน้าและหยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทางออกที่ดีที่สุดคือกลับมาสู่การเจรจาโดยเร็วเพื่อนำความสงบและสันติสุขคืน สู่ประเทศไทย ฝ่ายใดปฏิเสธการเจรจา ถือว่าฝ่ายนั้นมีเจตนาทำร้ายประเทศชาติ