สมาคมนักข่าวฯ ร่วมปฏิรูปปท.ไทย เปิดเวที 'ถกแผนปรองดอง'
'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' หวั่นสังคมไทยยอมแพ้ต่อปีศาจร้าย ปัดตกแผนปรองดอง เลิกใช้สันติวิธี จี้เรียกคืน 'ตัวตนศีลธรรม' ด้าน 'ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ' ชี้ปรองดองในชาติใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี ส่วนอภิรักษ์ ฝากความหวังสื่อช่วยดึงทุกภาคส่วนร่วมดันวาระปฏิรูปประเทศไทย 'พงศ์เทพ' มองทุกปัญหาล้วนฝังลึก แก้ปัญหาเฉพาะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการปะทะ บาดเจ็บล้มตาย
วันนี้ (12 พ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยจัดราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 6 โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ "ถกแผนปรองดอง?" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ร่วมเสวนา
นายอภิรักษ์ กล่าว ถึงการขับเคลื่อนแผนปรองดอง 5 ข้อของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ว่า สื่อจะมีบทบาทสำคัญ ผลักดันวาระปฏิรูปประเทศไทย โดยดึงพลังจากทุกภาค ส่วนของสังคม ร่วมขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความสงบในบ้านเมือง พร้อมเห็นว่า ระยะเวลา 4-5 เดือนไม่พอ ต้องมีการนำเรื่องเหล่านี้หยิบขึ้นมาวางบนโต๊ะ หาเจ้าภาพร่วม เจ้าภาพหลัก ในการขับเคลื่อนระยาวต่อไป ให้รัฐบาลชุดนี้วางกลไก เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง หลังจากมีการประกาศยุบสภาไปแล้ว ขณะเดียวกันการเลือกตั้งก็ต้องมีความยุติธรรม ปราศจาก การแทรกแซงด้วย
“เป้าหมาย ระยะสั้นสุด คือต้องไม่เกิดความรุนแรงขึ้นอีกแล้ว ต้องหลีกเลี่ยงก่อให้เกิดเงื่อนไขยุติการชุมนุม ระยะยาว ก่อนยุบสภาต้องมีข้อสรุปที่ทำได้เลย ในการต่อยอดสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว เช่นปัญหาที่ดิน หนี้นอกระบบ ต้องมีกลไกต่อเนื่อง เสนอเป็นวาระประเทศ วาระประชาชน ไม่ใช่เป็นวาระของรัฐบาล”
ขณะที่นายพงษ์เทพ กล่าวถึงแผนปรองดองของรัฐบาลว่า ระยะเวลา 4 เดือนทำให้สำเร็จทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องล้วนเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกที่จะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญเฉพาะหน้าของประเทศไทยที่รัฐบาลสามารถทำได้คือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดการปะทะ หรือบาดเจ็บล้มตายกันอีก นี่คือเรื่องที่รัฐบาลต้องใคร่ครวญ พราะไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงอีก ขณะเดียวกันสังคมไทยต้องปลูกฝังเรื่องการยกระดับมาตรฐานความซื่อสัตย์สุจริต ให้เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม อาจจะต้องฝากความหวัง ส่วนหนึ่งไว้กับรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ที่จะต้องมี ความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการปฏิรูปประเทศไทย และคนไทยทั้งหมดต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกัน
“ประชาชน ต้องมาช่วยกันพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยเรื่องที่เกิด ขึ้นกับเมืองไทยในวันนี้ ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ว่า การจะอยู่ร่วมกัน การเกิดสงบสุข สันติสุข นั้น จะต้องเริ่มวางโครงสร้างการอยู่ร่วมกัน โครงสร้างการใช้อำนาจ โครงสร้างการตรวจสอบที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อย่างมีเหตุผล ต้องอยู่โดยที่คนไทยทุกคนอยู่ร่วมกัน แม้มีความคิดเห็นแตกต่าง” นายพงศ์เทพ กล่าว และว่า สิ่งหนึ่งที่ตนเห็นด้วยกับแผนโรดแมป คือ เรื่องของคณะกรรมการที่จะมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยและยอมรับ เพราะในเมืองไทยยังมีความแคลงใจสงสัยกันมาก แต่ถ้าได้ว่าคนที่เป็นกลาง มาช่วยจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องขึ้นอยู่ที่กลไกการแสวงหา
ด้านศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้แก้ได้ยาก เพราะสังคมขัดแย้งกันในเรื่อง 1.ตัวเป้าหมายที่ไม่ได้เห็นพ้อง ต้องกันอีกแล้ว 2.วิธีการ ไปสู่การครองอำนาจรัฐ จากเดิมที่เคยเห็นร่วมกันว่าต้องผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเวลานี้มีคนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งแก้ปัญหาได้อีกแล้ว และ 3.จินตนาการ คือ ใครที่ไม่เห็นด้วยกับตนย่อมไม่ใช่คนไทยหรือเป็นปิศาจร้ายในสังคม นี่คือบริบทของแผนปรองดองที่เป็นอยู่
“ความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อ ผมคิดว่า เป็นข้อดี คือ เวลาความขัดแย้งอยู่ที่สีเสื้อ ไม่ว่าจะเหลือง หรือ แดง มันต่างจากความขัดแย้งที่ผิวสี เพราะเสื้อถอดได้ แต่ผิวสีถอดไม่ได้ ปัญหาของเราก็คือว่า เราไปคิดว่าสีเสื้อมันแย่มาก ซึ่งมันตลกมาก”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงแผนปรองดองว่า เมื่อวันที่นายกรัฐมนตรี ประกาศแผนปรองดอง ความรู้สึกของคนในประเทศ ในสังคมโดยรวม คือ รู้สึกดี แต่เมื่อความรู้สึกขึ้นอย่างนั้น อันตรายจะตามมาเสมอในทางทฤษฎี เรียกว่า "ความคาดหวังที่วิ่งขึ้น" ซึ่งหมายความว่า ความควาดหวังที่วิ่งขึ้น ได้รับการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่ สิ่งที่จะตามมาคือ ความคับข้องใจ และสิ่งที่อาจจะตามมาคือ ความรุนแรง ความก้าวร้าว นี่เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะเวลาที่สังคมสร้างความคาดหวัง แล้วไม่ได้รับการตอบสนอง สังคมทั่วไปก็จะรู้สึกคับข้องใจ จนอาจนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงได้
สำหรับประเด็นเรื่องสื่อในขณะนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า รัฐควรจะเปิดพื้นที่สื่อของรัฐให้กับคู่ขัดแย้งจริงๆ เช่น ให้ช่อง 11 จัดเวลาให้กับทั้งคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อหลากสีด้วยกันเลย อาจจะเป็นช่วงเวลา “สีรุ้ง” แล้วเชิญคนต่างๆ เหล่านี้มาพูดปัญหากันแต่ละมุม เนื่องจากทุกอย่างที่ฝ่ายที่ขัดแย้งกันพูดในเวทีที่ไม่เหมือนกันเนื้อหาก็จะ ไม่เหมือนกัน และการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพจะมีผลต่อการปรองดองในระยะยาวด้วย
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า เรื่องการปฏิรูปการเมือง ก็ไม่ควรคิดแค่การแก้รัฐธรรมนูญ หรือจัดการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น ต้องคิดถึงการควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงในการเลือกตั้งด้วย ทำให้เกิดความปลอดภัยในการเลือกตั้ง การจัดการควบคุมอาวุธเถื่อนต่างๆ จัดการซุ้มมือปืน ทหารนอกแถวอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการปฏิรูปการเมืองที่ไม่ใช่แค่ผลดีกับรัฐบาล แต่ยังดีกับทุกคน
“ความขัดแย้งของสังคมไทยที่ผ่านมา ได้ขโมยของสำคัญจากสังคมไทยไป 2 อย่าง คือ ขโมยกลไกและสถาบันที่เคยพยุงสังคมไว้ให้จัดการกับปัญหาได้อย่างมี ประสิทธิภาพ และขโมยตัวตนทางศีลธรรมของแต่ละคน ( Moral Agent) เนื่องจากเวลานี้เราคิดถึง เบื้องหลังเหตุการณ์และตัวบุคคลมากเกินไปจนลืมนึกว่าเบื้องหลังของสิ่งเหล่า นี้ก็คือตัวตนทางศีลธรรมของเราเอง”
ส่วนทางออกของสังคมไทยในขณะนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้านี้ทุกคนต้องกลับมาคิดถึงเรื่องศิลธรรม สมมุติ ว่าวันนี้ไม่ตกลง ไม่ยอมกัน ไม่ยอมรับแผนปรองดอง แล้ว เกิดคนเจ็บ คนตายอีก ผลที่เกิดขึ้นนั้นทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบในฐานะมือเปื้อนเลือด พรรคเพื่อไทยก็ต้องรับผิดชอบว่าพาคนไปตาย เราทุกคนต้องต่อสู้ไม่ควรรับข้อถกเถียงนี้ ไม่ควรจะยอมแพ้ต่อปิศาจร้ายที่คุกคามสังคมไทย มิเช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นปิศาจตัวนั้นไปด้วย
“วันนี้มี พ่อมดหมอผีเต็มสังคมที่พยายามสร้างมนต์มายาเหล่านี้ สังคมไทยต้องต่อสู้เรียกร้องตัวตนทางศีลธรรมคืนมา ไม่เช่นนั้นเราจะฝ่าข้ามวิกฤตเหล่านี้ไปไม่ได้และแผนปรองดองนี้จะไม่เป็นผล ในระยะยาว"
ด้านนายชัยวัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น โดยตั้งคำถามว่าสังคมไทยรู้หรือไม่ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหามาจากไหน ซึ่งการแก้ปัญหาต้องค้นหาที่รากเหง้า กระบวนการ ปรองดองเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากยังไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่เช่นนั้นจะเถียงกันทุกเรื่อง พร้อมจะเป็นศรีธนญชัย ตลอดเวลา
“ทุกวันนี้ เราเจอภาษาศรีธนญชัยเกือบทั้งนั้น ไม่ใช่ เรื่องการนำเหตุผล นำความจริงขึ้นมาพูด เป็นเรื่องของการเล่นคำเล่นลิ้น และสื่อมวลชนก็พร้อมขยายผลของการเล่นคำเล่นลิ้น จนกระทั่งสร้างนักบิดเบือน นักพูดสิ่งที่ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว ตั้งแต่ระดับ อบต.ถึงระดับชาติ”
นายชัยวัฒน์ กล่าว ถึงสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย ที่พอจะทำให้เกิดความหวัง ก็คือ คนไทยมีอะไรบางอย่างดีๆ อยู่ในตัว แต่ถูกลืมไป เพราะความโกรธ หรือใช้เลนส์บางเลนส์มอง เลยเห็นเรื่องบางเรื่อง เช่น คนไทยพร้อมให้อภัยกันได้ แต่การให้อภัยต้องยืนอยู่บนพื้นฐานการยอมรับผิดก่อน มิใช่ให้อภัยโดยอีกฝ่ายไม่ยอมรับผิด มีตัวอย่างที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ คือ การไปสัมภาษณ์ของกลุ่มเพื่อนรับฟัง สัมภาษณ์ทหาร ปรากฏ ทหารกับผู้ชุมนุมเขาไม่โกรธกัน เห็นว่า ต่างคนต่างทำหน้าที่ ขณะที่ทหารหลายคนก็ไม่อยากทำแต่เป็นหน้าที่ จุดเล็กๆ นี่เอง เป็นพลังด้านบวกของสังคมไทย ที่มีมายาวนานอาจจะเป็นพันปี สังคมไทยมีความสามารถ มีความคิด มีวิถีชีวิตแบบนี้อยู่ แต่ถูกทำให้มองข้ามไป
เมื่อมาดูที่แผนปรองดอง ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวว่า ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี หรือถ้าโชคดี จัดการดีๆ มีการดำเนินงานอย่างรอบด้านอาจจะ 10 ปี ก็เกิดต้นทุนที่แข็งแรงได้ วันนี้สังคมไทยพูดถึงความปรองดอง แต่ได้พูดถึงความรัก ความเมตตา ให้อภัยกันหรือไม่ ซึ่งความปรองดองของคนในชาติจะ เกิดขึ้นได้ต้องมองเห็นภาพใหญ่ของชาติเสียก่อนค้นพบจุดร่วมกัน มีภาพอนาคตร่วมกันก่อน