‘เกษียร เตชะพีระ’ วิเคราะห์ซัดสังคมไทยเกิดอาการ “ตื่นตัวทางการเมืองกะทันหัน-สู้ไม่สนกติกา”
เปิดตำราสอนหลักการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง “แยกทัศนคติ-จับคอนเซป-มีทักษะ” พร้อมเตือนสติชาวม็อบในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีการต่อสู้เพียงครั้งเดียวแล้วจะชนะ ฟันธงอนาคตปท.ไม่เหมือนเดิมแน่ ระเบียบเก่ากำลังจะตาย ระเบียบใหม่ต้องการจะคลอดขึ้นมาแทน
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีสัมมนา “หลักการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า วันนี้คนไทยเกิดอาการตื่นตัวทางการเมืองแบบกะทันหัน สำหรับคนที่ไม่เคยสนใจทางการเมืองมาก่อนก็เกิดความเชื่อและฝากความหวังไว้กับการต่อสู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างมากว่า การออกมาเรียกร้องต่อสู้แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที นำชัยชนะมาให้ ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วไม่มีการต่อสู้เพียงครั้งเดียวจบแล้วจะนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ได้ทันที เห็นได้ชัดจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งนี่คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังเป็นอยู่ เป็นอาการตื่นตัวทางสังคมทางการเมืองอย่างกว้างขวางมหาศาล
“วันนี้มีคนจำนวนมากที่ฟังการปราศรัยจากที่ชุมนุมแล้วพร้อมจะต่อสู้ทุกอย่าง ซึ่งโคตรไร้เดียงสา ที่พร้อมจะเชื่อ จะสู้โดยไม่ต้องเคารพกฎอะไรเลย และไม่เคยคิดว่าการจะปฏิรูปอะไรนั้นที่ผ่านมามันเป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐสภา สถาบันต่างๆ กระบวนการอะไรบ้าง ไม่เคยคิด ดังนั้นเราจะประคองพลังสร้างสรรค์เหล่านี้ได้อย่างไรให้ไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และไม่ทำลาย จะช่วยให้คนเหล่านั้นได้เรียนรู้อย่างไม่เจ็บปวด และไม่เกิดการสูญเสียได้อย่างไร และวันนี้เราไม่ควรรีบตายเพื่อให้ยุบสภาเร็วขึ้น หรือช้าลง เพราะเราต้องเก็บแรงไว้สู้ต่อรอบหน้า เราหลงผิดที่คิดว่าจะสู้รอบเดียวแล้วชนะ”
อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ.กล่าวอีกว่า นักวิชาการผู้รู้จึงต้องพยายามสร้างความรู้ใหม่ที่ถูกต้องให้ประชาชน โดยเฉพาะภาพรวมของการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ที่ทางวิชาการนั้น คือ การนำวาทกรรมมาชนกับสถานการณ์ความขัดแย้ง พร้อมกับเห็นว่า การวิเคราะห์ที่สื่อมวลชนทำนั้นเป็นวาทกรรมอย่างหนึ่ง เป็นความพยายามของมนุษย์ที่ใช้ภาษา นำถ้อยคำไปจับสถานการณ์ความจริงให้หยุดนิ่งเพื่อทำความเข้าใจ แต่ความเป็นจริงแล้วสถานการณ์ไม่ได้หยุดนิ่งตามการวิเคราะห์ จึงทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์ของสื่อมวลชนตาย ขณะที่ความจริงสถานการณ์นั้นยังคงดำเนินต่อไป
สำหรับองค์ประกอบหลักของการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งนั้น รศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือ ทีทรรศน์ (Attitude) ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดการวิเคราะห์ ที่ไม่ควรปล่อยให้การเลือกจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเป็นตัวกำหนดการวิเคราะห์ล่วงหน้าตั้งแต่ต้น ต้องเลือดเย็นนำตนเองออกมาจากความขัดแย้ง ระวังการวิเคราะห์บนมุมมองแบบแบ่งแยกสองขั้ว ต้องคิดเสมอว่าการใช้เหตุผลของแต่ละคนต่างกันและอาจไม่สามารถนำความคิดเหล่านั้นมาบรรจบเป็นหนึ่งเดียวเสมอไป ควรนำมาความคิดของศัตรูมาพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจัง และควรใช้เวลาในการตีความบรรดาความคิดที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโลก เป็นสิ่งที่คุ้มค่าควรทำ
ส่วนที่ 2 คือ แนวคิดทฤษฎี (Concept/Theory) เป็นวิธีการให้ได้มาซึ่งความหมายของสถานการณ์ให้มากที่สุด เช่น แนวคิดทางสังคมศาสตร์ที่มองความขัดแย้งมาว่าจากชนชั้นในสังคมอยู่ 4 แบบ ได้แก่ ชนชั้นแบบการจัดช่วงชั้นทางสังคม เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล, ชนชั้นแบบเบเวอร์เน้นการกักตุนโอกาสเกิดความไม่เสมอภาคในสังคม ทำให้เกิดกลไกการเบียดขับบุคคลออกจากสังคมไปอยู่ชายขอบ, ชนชั้นแบบมาร์กซิสต์เน้นการขูดรีดและครอบงำการผลิต เกิดความไม่เสมอภาคในสังคมเป็นชนชั้นนายทุนกับคนงานในฐานของทุนนิยม และชนชั้นแบบรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ที่เกิดความไม่เสมอภาคในสังคมด้วยการวัดระดับความเป็นไทยและความเป็นคนดีมีศีลธรรม ที่เชื่อว่าคนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากันขึ้นอยู่กับความเป็นไทย ความดีมีศีลธรรม เชื่อว่าสังคมมีที่สูงที่ต่ำ คนควรทำตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนด คนที่อยู่ที่ต่ำควรอยู่ที่ต่ำและทำหน้าที่ตามนั้น ส่วนคนที่อยู่ที่สูงก็ควรหน้าที่ของคนที่สูง ฯลฯ และส่วนสุดท้าย คือ เทคนิควิธีการ (technical Skill/Knowledge) ในการสืบหาความรู้วิเคราะห์เป็นการทำให้ได้มาซึ่งวิธีการในการวิเคราะห์ โดยทั้งสองส่วนเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินควบคู่กันในกระบวนการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง
"สิ่งที่คนเสื้อแดงเรียกร้องจึงเป็นการฝืนระบบชนชั้นในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ที่บอกว่าเท่ากันโดยไม่ดูความเป็นไทยเลย บอกว่า เราเท่ากันโดยไม่ดูว่าใครดีใครเลว สังคมไทยมีที่สูงมีที่ต่ำ การทำนอกหน้าที่ ทำในหน้าที่ที่ไม่ควรทำ จึงเป็นการทำลายโลกการเมืองในความคิดชนชั้นกลางไทย จนชนชั้นกลางไทยรับไม่ได้"รศ.ดร.เกษียร กล่าว
ส่วนเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคต รศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า ขณะนี้ระเบียบเก่าของสังคมไทยกำลังจะตาย โดยพยายามดิ้นรนให้รอด ขณะที่ระเบียบใหม่ต้องการจะคลอดขึ้นมาแทน ซึ่งตนก็ไม่มั่นใจว่าอะไรจะดีกว่ากันหรือไม่ วันนี้เมืองไทยและคนไทยยังอยู่ในเงาของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เห็นคนในสังคมไทย ต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม สังคมไทยที่ดีนั้นต้องมีคนดีมาปกครอง ใช้อำนาจปกครองในทางที่ดีเต็มที่ และมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีทศพิธราชธรรมคอยตรวจสอบและถ่วงดุล พึ่งพระมหากษัตริย์ โดยทุกคนก็ทำหน้าที่ของตนไป นี่คือปรอททางการเมืองที่คนไทยชอบมาตลอด
“ที่ผ่านมามีปัญหาอะไรก็พึ่งกฤษดาภินิหาร หลัง 14 ตุลา พฤษภา 2535 ก็พึ่งกฤษดาภินิหาร ซึ่งพวกเราก็สบายไม่ต้องทำอะไรทำหน้าที่ของเรา จะมีคนดูแลให้ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป จะรักษาไว้ไม่ได้ ไม่ยั่งยืนแล้ว เงื่อนไขมูลฐานที่สำคัญที่สุดของระเบียบเก่า คือ ประชาชนตื่นตัว การไม่สนใจและนิ่งเฉยทางการเมืองของประชาชนได้หมดไปแล้ว วันนี้ประเทศไทยไม่มีวันกลับไปเป็นแบบเดิมได้อีก แต่ระเบียบใหม่ที่จะมาแทนนั้นจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการต้องปล่อยให้คนไทยทุกคนได้ร่วมคิดวางระเบียบใหม่”
อาจารย์รัฐศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลักการเมืองไทยที่ผ่านมา คือ การเมืองในสภากับการเมืองบนท้องถนนไม่เชื่อมต่อกัน แต่ขณะนี้เริ่มมีความเชื่อมโยงต่อตรงมากขึ้นระหว่างประชาชนกับการเมืองภาคตัวแทน หรือพรรคการเมือง และการชุมนุมของคนเสื้อแดงเองก็ทำให้เกิดโหมดใหม่หมดสำหรับสังคมไทย ทหารเรียบร้อยขึ้นเกร็งในการใช้อำนาจ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้นด้วย