“ลิเกการเมือง” โหมยกระดับการศึกษา: “รูปธรรม?” คำถามที่ทุกพรรคต้องตอบ
รากเหง้าปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยต่างมีจุดกำเนิดเดียวกันคือระบบ “การศึกษา” ที่ล้มเหลว และหากจะพุ่งเป้าลงไปยังชนบท-ห่าง ไกล หรือชุมชน ยิ่งตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำ เด็กไทยต้องจำนนต่อกรอบการศึกษาที่ชำรุด ยังถูกสำทับด้วยโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่าง
ชะตากรรมของเด็กในชุมชนแขวนอนาคตไว้บนเส้นด้ายมาอย่างยาวนาน!!..
ดีเดย์เลือกตั้ง 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ทุกพรรคการเมืองพยายามเข็นนโยบายด้านการศึกษาให้ประจักษ์ต่อสังคม แน่นอนว่าการให้ความสำคัญต่อการศึกษาชุมชนเป็นภาพลักษณ์และวิสัยทัศน์ที่เรียกคะแนนเสียงได้มหาศาล แต่ทว่าความหอมหวานของฝันที่ถูกเล่ขายครั้งนี้ ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ถึงรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นจริงหลังลิเกการเมืองจบสิ้นลง
ประชาธิปัตย์ : สานต่อ “เรียนฟรี 15 ปีมีคุณภาพ
พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้สโลแกน “เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ทุกนโยบายทำได้จริง เริ่มทำงานได้ทันทีในวันแรก เพื่อครอบครัวของทุกคน” ยังคงชูนโยบาย “เรียนฟรี 15 ปีมีคุณภาพ” โดยตั้งงบประมาณร่วม 4 หมื่นล้านบาท จัดการศึกษาฟรีให้กับนักเรียนทั้งในกทม.และชุมชน กว่า 12 ล้านคนได้รับประโยชน์
“ค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพ อาทิ ด้านวิชาการ ด้านคุณธรรม-จริยธรรม ด้านการทัศนศึกษา การจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ 40 ชั่วโมงต่อคนต่อปีทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” รายละเอียดตามที่ทีมยุทศาสตร์นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
สอดคล้องกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันในการหาเสียงในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาว่า จะเพิ่มเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอีก 2.5 แสนทุน สำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน
หลักการคือ ปัจจุบันมีนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจำนวน 1.7 ล้านคน แต่ได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพียง 551,155 คนเท่านั้น ใช้ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีนักศึกษาที่ต้องการโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะนักศึกษาในพื้นที่ชุมชน-ชนบท พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องการขยายโอกาสด้วยการเพิ่มงบอีก 1.45 หมื่นล้านบาท หรือคนละ 5.8 หมื่นบาท ครอบคลุมนักเรียน 2.5 แสนคน
เพื่อไทย : แจกกระจาย “1 นักเรียน 1 แทปเลท”
ด้าน พรรคเพื่อไทย มุ่งเน้นเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ยาหอมนักศึกษาชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ชูนโยบาย “วันแทปเลทพีซีเพอร์ชายด์” หรือ 1 นักเรียน 1 แทปเลท โดยจะนำร่องโครงการด้วยการใช้งบของกระทรวงศึกษาธิการเพียง 3–5 ล้านบาท จัดหาและแจกจ่ายแทปเลทให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ล้านคนทั่วประเทศ เน้นเป้าหมายแก่ประชาชนระดับกลางและล่าง
นอกจากนี้จะจัดทำโครงการ “Free Wi-Fi hot Spot” หรืออินเตอร์เนทไร้สายความเร็วสูงฟรีเพื่อการศึกษา โดยเริ่มแรกจะเน้นในสถานที่สาธารณะ สถานที่ราชการทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานของแทปเลท ขณะเดียวกันจะตั้ง “ศูนย์กลางการเรียนรู้การศึกษา” ให้เป็นแหล่งพบปะเชิงสร้างสรรค์ของวัยรุ่น
“ปัญหาทางการศึกษาของประเทศไทยคือโอกาสที่ไม่เท่า เทียม เด็กและเยาวชนตามชุมชนและพื้นที่ห่างไกลจะเสียเปรียบคนเมืองเป็นอย่างมาก พรรคเพื่อไทยจึงคำนึงถึงการลดช่องว่างเหล่านี้เป็นสำคัญ” หนึ่งในทีมนโยบายด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทยสรุปความ
ภูมิใจไทย : กระจายอำนาจท้องถิ่นจัดการศึกษา
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย กำหนดจุดยืนต่อนโยบายการศึกษาด้วยการเน้นกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา โดยวางยุทธศาสตร์ในมิติ “การศึกษา-สังคม” เพื่อความเป็นรูปธรรม 9 ข้อ ได้แก่ 1.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนเพื่อให้เด็กสามารถมีพัฒนาการของสมอง ร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม 2.พัฒนาคุณภาพครูเด็กเล็ก ให้มีความสามารถกระตุ้นการพัฒนาของสมองและอารมณ์ของเด็กได้อย่างถูกต้อง
3.สนับสนุนการจัดอาหารกลางวันและนมที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน 4.ส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น 5.จัดให้มีทุนการศึกษาและการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต 6.ปรับปรุงหลักสูตรทางการศึกษาทั้งหมดให้มีมาตรฐาน และคุณภาพเทียบเท่าสากล เน้นความเป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์
7.จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในทุกจังหวัด โดยให้สถาบันการศึกษามีอิสระในการบริหารจัดและการจัดการ 8.สนับสนุนความเป็นอิสระทางด้านวิชาการและส่งเสริม ความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาให้เทียบเท่ากับต่าง ประเทศที่พัฒนาแล้ว 9.ส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปลูกจิตสำนึกในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและการรู้รักสามัคคีของคนในชาติ
ด้านพรรคการเมืองอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีนโยบายด้านการศึกษาทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ มุ่งเน้นการศึกษา พัฒนานักเรียน ครู และ สถาบัน ส่งเสริมปรับปรุงมาตรฐานการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่เด่นชัด
ในบรรดานโยบายการศึกษาช่วงหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคดังกล่าวเบื้องต้น ต่างไม่มีสิ่งใดการันตีว่าจะเกิดขึ้นจริง หลังลิเกการเมืองจบสิ้นลง จะตามหารูปธรรมนโยบายที่โปรยปรายเหล่านั้นได้ที่ใดกัน
เห็นผลได้จริง ต้องเชื่อมปฏิรูปการศึกษาลงสู่การปฏิบัติ-ปลูกสำนึกรักท้องถิ่น
วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิพากษ์ภาพกว้างของการจัดทำนโยบายการศึกษาว่า นโยบายด้านการศึกษาของพรรคการเมืองใดก็ตามที่จะเข้ามาบริหารด้านนี้ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อการปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะแนวทางที่ได้มานั้นถูกคิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาโดยที่ไม่ได้เลือกข้างไหน ดังนั้นกรอบการคิดนโยบายจึงควรครอบคลุมการแก้ปัญหาด้านการศึกษาทั้งหมด สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือที่ผ่านมานโยบายด้านการศึกษาขาดความต่อเนื่องและครอบคลุมการจัดการศึกษาให้คนตลอดชีพ และเป้าหมายสูงสุดคือต้องให้ทั้งคนทั้งที่อยู่ในและนอกระบบการศึกษาเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
สัมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า นโยบายด้านการศึกษาจำเป็นต้องเริ่มจาก “สังคมพื้นฐาน” และ “สำนึกรักบ้านเกิด” โดยพรรคการเมืองนั้นนอกจากจะออกนโยบายสวยหรูแล้ว สิ่งที่ต้องทำให้เห็นคือการจับต้องได้จริง หัวใจคือตั้งแต่ระดับชุมชน โดยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นกงจักรขับเคลื่อน สำคัญในอนาคต เพราะโรงเรียนเหล่านั้นไม่ใช่แค่ทำให้เด็กมาเรียน แต่ต้องทำให้เป็นศูนย์รวมของหมู่บ้านชุมชน ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย
แนะเพิ่มสัดส่วนสายอาชีพ รองรับความต้องการชุมชน
ด้าน ภาวิช ทองโรจน์ อดีตรองประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กออ.) ชำแหละนโยบายเรียนฟรี 15 ปีว่า ข้อบกพร่องใหญ่ที่สุดคือการแจกตำราเรียนหมุนเวียน เนื่องจากเมื่อนักเรียนนำไปใช้แล้วจำเป็นต้องขีดเขียนบันทึกสิ่งต่างๆ ลงไป แต่นโยบายกำหนดว่าให้ช่วยรักษาเพื่อการใช้ของรุ่นน้องรุ่นต่อๆ ไป นอกจากนี้แต่ละปีกระทรวงศึกษาฯ ได้จัดสรรงบ 30% เพื่อซื้อตำราใหม่เพิ่มเติม คำถามคือเงินแค่นี้ไม่เพียงพอต่อการซื้อใหม่ทั้งหมด จะเป็นการให้อย่างเลือกที่รักมักที่ชังหรือไม่
นอกจากนี้เนื้อหาในตำราหลักที่ถือว่าอ่อนอยู่แล้ว นโยบายเรียนฟรียังพยายามลดต้นทุนด้วยการตัดหนังสืออ่านเสริมออกไป ซึ่งถือว่าอันตรายอย่างยิ่งเพราะหนังสือเหล่านี้คือแหล่งความรู้ชั้นดีของ นักเรียนนักศึกษา ที่สำคัญเมื่องหนังสือเหล่านี้ไม่อยู่ในสารระบบของนโยบายรัฐแล้ว ผู้ปกครองก็มองว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น ตัวแทนจำหน่ายก็เลิกสั่งเข้ามา การกระจายตัวในชุมชนจึงไม่มี หนังสือเหล่านี้ก็จะไม่มีวันตกถึงมือของเด็กในชุมชนได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ด้านการพัฒนาอาชีวศึกษา กล่าวถึงการประชุมนโยบายด้านการอาชีวะศึกษาว่า คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาฯ จะมุ่งเน้นใน 4 ประเด็นสำคัญ คือการผลิตและพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน อาทิ การเพิ่มเงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา การพัฒนาครูและบุคลากรทางการสอน พัฒนามาตรฐานครู การพัฒนาสถานศึกษา และการเพิ่มเวลาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
พร้อมกันนี้ จำเป็นต้องมีการสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศไทยและภูมิภาคท้องถิ่น ว่าต้องการบุคคลากรทางด้านไหน เพื่อจะได้ผลิตบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และยังสนับสนุนนโยบายการเคาะประตูสถานประกอบการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนการสอนของสถาบันต่างๆด้วย
“แผนพัฒนาดังกล่าวจะนำมาสู่นโยบายที่จะมีการประชุมต่อเนื่องและจะกระจายข้อมูลในการประชุมต่างๆ ลงไปสู่สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันอาชีวศึกษา ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในสังคมต่อไป” วีระศักดิ์ กล่าว
…………………………
ทว่า เมื่อย้อนกลับไปดูนโยบายทางด้านการศึกษาของพรรคการเมืองอีกครั้ง กลับพบว่าไม่มีพรรคใดสนับสนุนพัฒนาการเพื่อเพิ่มสัดส่วนของเด็กสายอาชีพ หรืออาชีวะสักเท่าไรนัก ทั้งๆพื้นที่ระดับชุมชนหรือท้องถิ่นมีความต้องการ และทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยก็ชัดเจนว่าต้องการปรับเปลี่ยนสัดส่วนจากอุดมศึกษาต่ออาชีวะ 60:40 เป็น 40:60
คำถามที่ทุกพรรคต้องตอบคือ เข้าใจปัญหาการศึกษาและจริงใจต่อการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่
หรือหวังเพียงคะแนนเสียงอย่างที่แล้วๆ มา เพราะเป็นเช่นนั้นจริง ... เวรกรรมประเทศไทย!!