เร่งเปิดเวทีร่วมฟังเสียง ‘กม.คุมม็อบ’ หลังครม.ไฟเขียวร่าง
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ว่า ครม. มีการนำความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเข้าพิจารณาด้วย ซึ่งสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะดำเนินการต่อไป คือการไปรับฟังความเห็น เหมาะสมหรือไม่ และเหมาะสมอย่างไร
สำหรับการกำหนดสถานที่ห้ามขัดขวาง หรือปิดกั้น ปิดล้อม เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา และอื่นๆ นั้น นายแพทย์ชูชัย กล่าวว่า ต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง เบื้องต้นมีภาคีร่วมขับเคลื่อน คือ สำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
“การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ...เพื่อจะดูและระดมความเห็นของสังคม ให้สังคมมาร่วมกันกำหนดกรอบกติกา ว่าการชุมนุมในประเทศไทยควรเป็นอย่างไร หรืออาจมีการชุมนุมยาวนานก็ได้แต่ต้องมีขอบเขตชัดเจน ล่วงล้ำเสรีภาพคนอื่นให้น้อยที่สุด”
นายแพทย์ชูชัย กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ทำคนเครียดทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งสุขภาพจิตสุขภาพร่างกาย สุขภาพทางสังคมปั่นป่วนไปหมด ซึ่งวัฒนธรรมการชุมนุมในประเทศไทยต่างจากสังคมอื่นๆ ที่เมื่อมีการชุมนุม ได้มาส่งเสียงแล้วจะกลับ ไม่มีการค้างคืนหรือชุมนุมเป็นแรมเดือน ถึงวันเวลาแล้วก็จะนัดมาใหม่ หากยังไม่ได้ผล ก็จะดูปฏิกิริยาของสังคม ที่สำคัญการชุมนุมต้องกระทบกระเทือนเสรีภาพของคนอื่นน้อยที่สุด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกันพื้นที่ให้ ซึ่งแบบนี้จะไม่เป็นไร
ส่วนการกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องไม่ปิดกั้น ขีดขวางทางเข้าออกจากสถานที่ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า จากเดิมที่เคยเสนอให้กำหนดว่าให้ห่างจากสถานที่เหล่านี้ 500 เมตร ส่วนสถานที่ราชการอื่นๆ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ ห้ามไปปิดล้อมทางเข้าออก โดยเฉพาะโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไปด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้นคาดไม่ถึงว่าโรงพยาบาลจะเจอสภาพแบบนี้
สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่น จะยุติการชุมนุม หากผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก นายแพทย์ชูชัย กล่าวว่า อาจต้องมีศาลปกครองมาเป็นผู้ชี้ขาด มิใช่ศาลแพ่งอย่างที่ทำอยู่เพราะนักกฎหมายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผิดหลักการมาก กรณีให้ศาลชี้ขาดต้องให้ศาลเป็นที่สุด หากผู้ชุมนุมไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์ได้ และจบ
“การชุมนุมครั้งนี้ความชอบธรรมหมด ตรงที่ไปบุกรุกโรงพยาบาล ซึ่งก่อนหน้านี้สะสมมาเป็นระยะๆ คนกรุงเทพอดทนพอสมควร ตั้งแต่การไปลากทหารบาดเจ็บลงมาทุบตี มีศพที่อยู่ในโรงพยาบาลนำออกมาแห่ประจาน และที่รับไม่ได้ คือการไปบุกโรงพยาบาล” นายแพทย์ชูชัย กล่าว และว่า ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ซึ่งคนไทยต้องมาร่วมกำหนดกรอบกติกาว่าจะเอาแค่ไหนอย่างไร ด้วยวัฒนธรรมของเราต่างจากที่อื่น จึงต้องทำเครื่องมือนี้ให้ดี กฎหมายนี้ต้องส่งเสริมให้เกิดการชุมนุมสาธารณะที่สงบ ปราศจากอาวุธ คำนึงถึงเสรีภาพ ของบุคคลที่สาม ที่ไม่เกี่ยวกับการชุมนุม และหากมีช่องทาง หรือมีกลไกตอบสนอง สังคมก็จะสงบสุขมากขึ้น หากปล่อยไว้คนไม่ได้รับความเป็นธรรมมากๆ ขึ้นก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่