นายกฯ กลั่น 5 ข้อเสนอสร้างกระบวนการปรองดอง
ย้ำชัดครั้งแรกหากบ้านเมืองสงบ ยอมให้มีการเลือกตั้ง 14 พ.ย.จากนั้นนายกฯ อภิสิทธิ์ ตอบกระทู้ในการประชุมวุฒิสภา ยันการปฎิรูปภาคสังคม กำลังเดินหน้าเต็มที่ 12-13 พ.ค. นัดประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ เป็นวาระพิเศษ เพื่อรวบรวมปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทั้งหมด
วันนี้ (3 พ.ค.) เวลา 21.15 น. ณ ศาลากิตติสุข กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอยู่กับบ้านเมืองของเราในปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีหลายสาเหตุ สะสมมาเป็นระยะเวลาหลายปี บางเรื่องเป็นเรื่องการเมืองโดยตรง บางเรื่องก็เป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และเรื่องอื่น ๆ ที่สะสมมาทั้งหมด โดยความขัดแย้งนั้นทำให้เกิดความแตกแยก ร้าวลึก และรุนแรงมากขึ้นโดยลำดับ
“คำตอบทางการเมืองที่ผมอยากจะนำเสนอในวันนี้ และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม เข้ามาช่วยกันแก้ไขให้กับบ้านเมือง ก็คือการที่จะสร้างกระบวนการการปรองดองขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ หากประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาล จะทำให้บ้านเมืองของเรานั้นสามารถกลับสู่ความสงบสุขได้อย่างแท้จริง”
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้อธิบายกระบวนการการปรองดอง ไล่ลำดับตั้งแต่ ข้อแรก ไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมกันทำงานเพื่อที่จะเทิดทูนเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงอุทิศพระวรกาย และเวลาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน และพระราชทานแนวพระราชดำริที่ทรงคุณค่ายิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้ รัก สามัคคี และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยขอเชิญชวนทุกฝ่ายมาช่วยกันทำความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มาช่วยกันดูแลมิให้มีสื่อใดจาบจ้วง หรือละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
"องค์ประกอบที่ 2 ของกระบวนการของการปรองดอง คือ การปฏิรูปประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ข้อเท็จจริงมีรากฐานมาจากความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนที่มาร่วมชุมนุมมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับโอกาส ถูกรังแกจากผู้ที่มีอำนาจ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราปล่อยให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ เงื่อนไขเหล่านี้จะถูกดึงเข้ามา และสามารถสร้างความขัดแย้ง ไม่ใช่เฉพาะในทางการเมือง ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจะได้รับการดูแลด้วยระบบสวัสดิการที่ดี และมีโอกาสเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิต รวมไปถึงการที่พี่น้องประชาชนที่มีความทุกข์ร้อนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่มีที่ทำกิน มีหนี้สินท่วมตัว หรือคนที่มีความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในทางใดทางหนึ่งนั้น จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ
กระบวนการปรองดองหรือการปฏิรูปประเทศที่มีการพูดกันในขณะนี้ จะมีการดึงเอาทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาดำเนินการในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องสวัสดิการ ทั้งในเรื่องโอกาส และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะสามารถยกระดับรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ที่สามารถประเมินผลได้ และเป็นเรื่องที่จะต้องให้ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร ในยุคใด ต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างชัดเจน
องค์ประกอบที่ 3 ในยุคปัจจุบันเป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร เราต้องสนับสนุนและยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และในการที่จะมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับพี่น้องประชาชน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า ในระยะหลังนั้นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า อำนาจของสื่อในการนำเสนอข่าวสารได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง อาศัยช่องโหว่ช่องว่างจากกฎหมาย ที่เทคโนโลยีก้าวไปไกลกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเตอร์เน็ต มีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม สถานีโทรทัศน์บอกรับสมาชิก เคเบิล วิทยุชุมชน แม้กระทั่งการที่สถานีโทรทัศน์ของรัฐก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีส่วนในการที่จะสร้างความขัดแย้ง หรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ในกระบวนการของการปรองดองนั้น สื่อต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีกลไกที่เป็นอิสระ เข้ามาดูแลกำกับอย่างแท้จริงว่า แม้จะมีความอิสระในการเสนอข้อมูลข่าวสาร ต้องไม่เป็นการเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และในที่สุดนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน หากว่าเราสามารถทำให้การดูแลเรื่องของสื่อสารมวลชนนั้น โดยไม่ละเมิดสิทธิ แต่เป็นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เราจะสามารถทำให้สังคมของเรานั้นก้าวพ้นความขัดแย้ง และกลับมามีความปรองดอง มีความสงบสุขได้อย่างรวดเร็ว
องค์ประกอบที่ 4 ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการปรองดอง หลังจากที่ได้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ก็ได้เกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ ที่มีความรุนแรง มีความสูญเสีย ทำให้เกิดความคลางแคลงใจ เกิดข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานา และอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกและความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น ทุกเหตุการณ์จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และให้ความจริงแก่สังคม
องค์ประกอบสุดท้ายของการปรองดอง ข้อที่ 5 เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองโดยตรง ในช่วงระยะเวลา 4 - 5 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับกติกา เช่น รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายบางฉบับ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอน หรือการตัด หรือการเพิกถอนสิทธิ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเมือง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาวาง เพื่อให้มีกลไกในการที่จะระดมความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น อันนี้จะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงความผิดในการชุมนุมทางการเมือง เช่น การชุมนุมเกิน 5 คนในช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดฯ เป็นสิ่งที่จะต้องมีการให้ความเป็นธรรม"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 5 ข้อนี้เป็นองค์ประกอบของกระบวนการของการปรองดอง โดยมั่นใจว่าใช้ระยะเวลาไม่นานก็จะสามารถที่จะนำความปรองดอง ความปกติสุขกลับคืนมาสู่สังคมได้ และถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลพร้อมที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนนั้นได้มีโอกาสตัดสินใจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
"ผมคิดว่าถ้ากระบวนการการปรองดอง และเหตุการณ์ของบ้านเมืองสงบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป การเลือกตั้งสามารถจัดให้มีขึ้นได้ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลพร้อมที่จะดำเนินการ แต่ถ้าหากว่าบ้านเมืองไม่สงบ รัฐบาลก็ยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าดำเนินการตาม 5 ข้อ เพียงแต่ว่ากระบวนการดังกล่าวก็จะมีความขลุกขลัก ล่าช้า และในที่สุดเราไม่สามารถจะตอบได้ว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร จึงขอให้ประชาชนทุกฝ่าย ได้พิจารณาข้อเสนอในเรื่องของกระบวนการปรองดองนี้"
ผู้สื่อข่าวรายงายด้วยว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ ลุกขึ้นชี้แจงนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะประเด็นการปฎิรูปภาคสังคม ว่า ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ เป็นวาระพิเศษแล้ว ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค.เพื่อนำปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทั้งหมด โดยวันที่ 13 พ.ค.จะมีการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปมาที่ตน ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า วันที่ 20 พ.ค.จะจัดให้มีสมัชชาประชาชนว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปสังคม ขณะนี้เรื่องนี้เดินหน้าเต็มที่แล้ว