กสม.สรุป 5 แนวทางแก้ปัญหาบ้านเมืองให้เกิดสันติสุข
ขอให้ทุกฝ่ายถอยไปอยู่ในสถานะภาพก่อน 10 เม.ย.53 ยุติการข่มขู่คุกคาม เร่งแก้ปัญหาด้วยวิธีการเจรจาลับ ย้ำชัดฝ่ายใดปฎิเสธ ขอให้สังคมประณาม มุ่งทำร้ายประเทศมีเจตนาซ้อนเร้น พร้อมเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในสังคมทันที
วันนี้ (1 พ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์และสภาพปัญหาในสังคมไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี และผู้นำ 3 ศาสนา ดังนี้
นับตั้งแต่เกิดการชุมนุมสาธารณะในวันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา เหตุการณ์ได้ตึงเครียด ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน อันเป็นที่วิตกและหวั่นเกรงของประชาชนโดยทั่ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรู้สึกห่วงใยอย่างยิ่ง จากการติดตามสถานการณ์ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอแนะและเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดมั่นสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง เคารพสิทธิ เสรีภาพของกันและกัน โดยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายหาวิธีการยุติปัญหาด้วยการเจรจา
เพื่อคลี่คลายปัญหาความรุนแรงของบ้านเมืองให้ยุติลงด้วยความสงบสันติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เข้าพบหารือกับท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายชวน หลีกภัย นายอานันท์ ปันยารชุน นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และผู้นำทางศาสนาใหญ่ ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและขอรับคำปรึกษาต่อสถานการณ์พร้อมวิเคราะห์สภาพปัญหาในสังคมไทยปัจจุบัน ตลอดจนความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างในด้านต่าง ๆ ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้เกิดความสันติสุข
เมื่อนำข้อคิดเห็นต่างๆของบุคคลดังกล่าวข้างต้นมาประมวลแล้ว มีข้อสรุปได้ดังนี้
1. ทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงและการเผชิญหน้ากัน โดยขอให้ทุกฝ่ายถอยไปอยู่ในสถานะภาพก่อนวันที่ 10 เมษายน 2553 เพื่อระงับเหตุการณ์ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
2. ขอให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่เป็นการข่มขู่คุกคาม และการกระทำด้วยประการใดอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ
3. ขอให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาด้วยวิธีการเจรจาด้วยความจริงใจ โดยรูปแบบการเจรจาลับไม่ต้องเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะ เมื่อได้ผลสรุปที่ยุติแล้วทั้งสองฝ่ายจึงให้นำเสนอต่อสาธารณชนได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป
4. หากฝ่ายใดปฎิเสธการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยการเจรจา ขอให้สังคมประณามว่าฝ่ายดังกล่าวมุ่งทำร้ายประเทศไทย และมีเจตนาซ้อนเร้นก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
5. รัฐบาลต้องรับข้อเรียกร้องของประชาชนและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของชนชั้น ความไม่เป็นธรรมในสังคม และความเดือดร้อนของประชาชนผู้ยากไร้ที่มาชุมนุมโดยทันที และรายงานให้สาธารณชนได้ทราบเป็นระยะโดยทั่วกัน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมข้อหารือของอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำ 3 ศาสนา และสังคมไทยมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะรับข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นไปดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของชาติ บนพื้นฐานของความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน จะได้เกิดความสงบและสันติสุขกลับคืนมาโดยเร็ว