แถลงการณ์สธ.-รพ.จุฬาฯ-กสม. เสื้อแดงบุกค้นรพ.
ขอวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องได้โปรดคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม โดยละเว้นการกระทำที่เป็นอุปสรรคทั้งปวงต่อการดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บทั้งในสถานพยาบาลและในที่เกิดเหตุ ขณะที่ ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3
วันนี้ (30 เม.ย.) กระทรวงสาธารณสุข ออกแถลงการณ์ ความว่า จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกรณีการชุมนุมบริเวณราชประสงค์ต่อเนื่องศาลาแดง ส่งผลกระทบต่อทางเข้าออกของโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลตำรวจ มาโดยลำดับ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมเข้าตรวจค้นอาคารในโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และบรรยากาศในการปฏิบัติหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บได้รับผลกระทบอย่างมาก ประกอบกับกรณีเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีการกระทำต่อผู้บาดเจ็บในทางอันเป็นอุปสรรคต่อการขนย้ายผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุไปรับการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที
แม้ในยามสงคราม กฎบัตรสหประชาชาติที่ได้ใช้ในปัจจุบัน (Geneva Convention 1949) และรัฐบาลมากกว่า 200 ประเทศให้สัตยาบันไว้ ก็ระบุอย่างชัดเจนว่า
1) ต้องเปิดทางโล่ง สะดวก ปราศจากการขัดขวางใดๆ ต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
2)ปกป้องประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สามารถปกป้องตนเองได้ เช่น เด็ก คนป่วย ผู้บาดเจ็บ
3)ให้การคุ้มครองต่อสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลทั้งในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในทุกสังกัดต่างก็ให้การดูแล รักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกกลุ่ม และทุกฝ่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างเสมอภาค ยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมาโดยตลอด กระทรวงสาธารณสุขจึงขอวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องได้โปรดคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม โดยละเว้นการกระทำที่เป็นอุปสรรคทั้งปวงต่อการดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บทั้งในสถานพยาบาลและในที่เกิดเหตุ
ขณะที่ ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ฉบับที่ 3) เนื่องด้วยมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการป้องกันภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมทั้งญาติที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อีกทั้งยังเป็นการดูแลความปลอดภัยของบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาฯ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย จึงขอชี้แจงดังนี้
1.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยึด “หลักกาชาดสากล” มาตลอด โดยยึดความเป็นกลาง
2.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ขอยืนยันว่าไม่เคยร้องขอหรืออนุญาตให้กำลังตำรวจ กำลังทหารหรือผู้ใดก็ตามมาอยู่อาศัยหรือซ่อนตัวในอาคารภายในโรงพยาบาลอย่างเด็ดขาด
3.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต้องขอโทษมายังประชาชน ผู้ป่วยและญาติ ที่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกตั้งแต่วันพฤหัสบดี ที่ 29 เมษายน 2553 เป็นต้นไปจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย
4.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะงดรับผู้ป่วยใหม่ งดการผ่าตัด ยกเว้นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
5.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังคงให้บริการห้องฉุกเฉินแต่มีความจำเป็นต้องย้ายที่ปฏิบัติการไปที่ตึกจงกลนี ชั้นล่าง
เช่นเดียวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงการณ์ เรื่อง ขอประณามการละเมิดหลักการมนุษยธรรม และเรียกร้องให้เคารพเครื่องหมายกาชาด สถานพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ และสิทธิของผู้บาดเจ็บและผู้ป่วย
จากการกระทำอันเป็นการละเมิดด้วยการ ข่มขู่ คุกคาม บุกรุกสถานรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เช่น การปิดล้อม การปิดกั้นทางเข้า-ออก การบุกเข้าไปตรวจค้นหรือแม้แต่การนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากโรงพยาบาลโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้รักษาพยาบาลไม่สามารถช่วยเหลือ ดูแล รักษา และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เกิดการหยุดชะงักในการให้บริการการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนโดยทั่วไปและในภาวะฉุกเฉิน สร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการรักษาพยาบาล ตลอดจนผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย หรือผู้เข้ารับการรักษาตัวในสถานรักษาพยาบาลถูกละเมิดอย่างร้ายแรง ยิ่งกว่านั้นยังมีการขัดขวางการนำผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงไปรับการรักษาพยาบาลซ้ำเติมด้วยการทำร้ายผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอประณามต่อพฤติกรรมดังกล่าวอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการมนุษยธรรม อันเป็นกติกาสากลที่สังคมอารยะพึงยึดถือ เพราะแม้แต่ในภาวะสงคราม ทุกฝ่ายยังต้องเคารพเครื่องหมายกาชาดซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลอัน หมายถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และมนุษยธรรม อย่างเป็นกลางโดยไม่เลือกปฏิบัติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอเรียกร้องให้ยุติการกระทำในลักษณะข้างต้นนี้ พร้อมวิงวอนขอให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐช่วยกันป้องกัน ยับยั้ง มิให้เกิดการกระทำการละเมิดต่อการรักษาพยาบาลอีกต่อไป และต้องเคารพเครื่องหมายกาชาด สถานพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยธรรมของคณะแพทย์ และสิทธิของผู้บาดเจ็บและผู้ป่วย การกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่ความเคียดแค้นชิงชัง ความรุนแรง และการแบ่งแยกในสังคมมากยิ่งขึ้น จนยากแก่การสมานฉันท์ในอนาคต