ยังไม่ตัน “กอร์ปศักดิ์” ช่วยหาทางออก ประเทศไทยต้องมาก่อน
เลขาธิการนายกฯ เขียนบทความเรื่อง ประเทศไทยต้องมาก่อน ไว้ในเว็บไซต์ มั่นใจเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ อยากเห็นความสงบ สันติ ความสามัคคี รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน และต้องการเห็นกระบวนการยุติธรรมที่พึ่งได้
วันนี้ (26 เม.ย.) นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เขียนบทความเรื่อง ประเทศไทยต้องมาก่อน (Putting Thailand First) ไว้ในเว็บไซต์ http://www.korbsak.com/ เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเห็นว่า เสียงส่วนใหญ่ของประเทศ อยากเห็นความสงบ สันติ ความสามัคคี รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน คนไทยก็ต้องการเห็นกระบวนการยุติธรรมที่พึ่งได้ ใครเป็นผู้ก่อการร้าย ใครเป็นฆาตรกร ใครคือตัวการที่คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น
“คนไทยทุกคนต้องการที่จะช่วยกันสร้างประเทศให้แข็งแกร่ง ประเทศต้องเดินหน้าต่อให้ได้ เชื่อว่า คนไทยอยากเห็นการแก้ปัญหาโดยการนำประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง หรือของนักการเมือง ของพรรคการเมือง ประเทศไทยต้องมาก่อน ขณะเดียวกันยุบหรือไม่ยุบ ลาออก ปราบคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงก็จะเพิ่มความรุนแรง เหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการ”
จากนั้นนายกอร์ปศักดิ์ ได้ลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปกว่าหนึ่งเดือน เพื่อให้เห็นงานที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่การรับภาระเป็นหัวหน้าคณะทำงานประสานงานของรัฐบาล เหตุการณ์ที่ถนนสีลม จนคนเสื้อแดงปรับกลยุทธ์การชุมนุม มีการเปลี่ยนเสื้อสีแดงเป็นคนเสื้อไม่มีสี พร้อมโจมตีรัฐบาลเตรียมเข่นฆ่าประชาชน จึงทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า คนเสื้อแดงไม่เคยมีความจริงใจในการเจรจา และสั่งให้หยุดภารกิจดังกล่าว
สำหรับคำถาม สถานการณ์ถึงทางตันหรือไม่นั้น นายกอร์ปศักดิ์ นำเสนอมุมมองว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือรัฐบาลถูกแรงกดดันจากทุกด้านที่ต้องให้การชุมนุมครั้งนี้จบเร็ว ทำให้การเจรจาคือทางออกของทั้งสองฝ่าย ส่วนคำถามต่อว่า จะเจรจาตกลงเรื่องอะไร ยุบหรือไม่ยุบ ถ้ายุบ ยุบเมื่อไหร่ ถ้าไม่ยุบ นายกจะลาออก หานายกฯ ใหม่หรือตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาไม่มีวันจบ และ ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศในระยะยาว
นายกอร์ปศักดิ์ ได้ไล่เรียงปัญหาที่สร้างความแตกแยก ออกมาให้เห็น ว่า เริ่มเมื่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2 ได้เสียงส.ส.ในสภาท่วมท้น รัฐบาลกร่าง ใช้เสียงที่มีมากทำตามอำเภอใจ ลามไปถึงปัญหาการขายหุ้นของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ มีการซุกหุ้นเพื่อไม่ต้องเสียภาษี ไปไกลถึงมีการกล่าวหาว่าจาบจ้วงสถาบันเสียด้วยซ้ำ เท็จจริงอย่างไรต้องพิจารณาเอง
“จนเกิดการปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นผลพวงจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ การปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหาทำได้สำเร็จบ้าง แต่ก็สร้างปัญหาในบางเรื่องจนบานปลาย รวมทั้งคดียุบพรรคหลายพรรคในภายหลังทำให้นักการเมืองกว่า 200 คนถูกผลักออกจากงานการเมือง”
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุถึงความแตกแยกได้สะสมเป็นแผลลึก ทำให้ได้รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชายที่อยู่ได้ไม่นาน และยังมีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นอีก วันนี้ได้รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีคนส่วนหนึ่งเห็นว่า เป็นรัฐบาลที่เกิดจากการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองแบบไม่ปกติ ประชาชนส่วนหนึ่งจึงไม่ยอมรับ ขอให้ยุบสภา เลือกตั้งกันใหม่ปัญหาถ้ามองแบบผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเรื่องของคนๆเดียวคือพ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นการต่อสู้ของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยการปลุกระดมให้ข้อมูลผิดๆกับพี่น้องประชาชน แต่ถ้ามองลึกๆแล้วจะเห็นชัดว่า นอกจากเป็นเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังมีนักการเมืองกว่า 200 คนที่ถูกตัดสิทธิ์จากงานการเมือง กว่าครึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกมาจากระบบเขตเลือกตั้ง มีผู้สนับสนุนเขตละอย่างต่ำก็ 50,000 คน บางเขตเป็นแสน ถ้านับ ส.ส.เพียง 100 คน รวมคนที่เป็นแฟนสนับสนุนอดีตส.ส.เหล่านี้ก็ 5 ล้านคนเป็นอย่างน้อย”
“ ประชาชนจำนวนมากหลายล้านคน เชื่อว่านักการเมืองที่เขาชื่นชอบถูกรังแก อารมณ์นี้ยังมีอยู่ ดูได้จาก ญาติพี่น้อง ลูกหลานของอดีตส.ส.เหล่านี้ ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วจะได้รับเลือกเป็นส่วนมาก ขนาดบางคนไม่เคยทำงานทางการเมือง ก็ยังได้รับเลือก เพราะชาวบ้านเขาสงสาร ทำให้การปลุกระดมของแกนนำคนเสื้อแดงจึงทำได้ไม่ยากนัก เพราะพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งมีเชื้อความโกรธ ความรู้สึกว่า เขาถูกรังแกอยู่ในใจ ความรู้สึกสองมาตรฐาน ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องคนชนบทเท่านั้น คนกรุงเทพก็มีจำนวนไม่น้อย เมื่อได้น้ำเลี้ยงอย่างดีผสมเข้าไป จุดปุ๊บก็ติดปั๊บ”
นายกอร์ปศักดิ์ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาดังนี้
1.แยกเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณออกจากสมการ ไม่ให้เรื่องของส.ส.ผูกไว้กับเรื่องของอดีตนายกฯ
2.คนที่ทำความผิดทางคดีอาญาจากการชุมนุมที่ผ่านมาต้องเข้าสู่ขบวนการตามกฎหมาย
3. ทุกส่วนของสังคมประณามขบวนการล้มเจ้า ช่วยกันไล่ล่าเว็บไซต์เถื่อนที่ให้ร้ายสถาบัน จับคนที่ทำผิดกฎหมายมาลงโทษอย่างจริงจัง
4.สร้างกลไกเพื่อให้เกิดกระบวนการสมานฉันท์ที่ทุกฝ่ายพอรับได้อย่างไม่ชักช้า โดยใช้อำนาจการบริหาร เมื่อทำได้ครบแล้วทุกคนเดินเข้าสนามเลือกตั้ง
“ ถ้าคิดทำงานเพื่อประเทศ และพร้อมใจกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เราทุกคนหวงแหน ต้องคำนึงเสมอว่าประเทศไทยต้องมาก่อน”