โฆษกศาลฯ ชี้ความยุติธรรมเหมือนสินค้าแฮนด์เมด ไม่ใช่เสื้อโหล S M L
เปิดอกแจง หลังถูกสังคมเพ่งมอง 2 มาตรฐาน ยอมรับศาลมีหลายมาตรฐาน แต่มีหนึ่งบรรทัดฐาน ทำให้คดีหนึ่งๆที่ดูเหมือนฟ้องข้อหาเดียวกัน แต่การตัดสินคดีต่างกัน ลั่นยังเชื่อมั่นในจิตวิญญาณของผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์รักษาความยุติธรรม เที่ยงธรรม เป็นกลาง และความถูกต้อง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวในสัมมนาวิชาการ ในโอกาสครบรอบสถาปนาศาลยุติธรรม 128 ปี ตอนหนึ่ง ถึงศาลยุติธรรม ความคาดหวังของสังคมไทยว่า ความคาดหวังของสังคมไทย คือศาลต้องยุติธรรม เที่ยงธรรม ขณะนี้มีคนพูดว่า ศาลยุติธรรม มีการแปลเป็น 2 นัยยะ คือศาลที่ยุติความเป็นธรรม กับศาลที่ตัดสินโดยธรรมะ แต่ในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการ และอาสาตัวเข้ามารักษาความเป็นธรรม เป็นกลาง ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ได้กระทำและแสดงความยุติธรรมให้ปรากฎหรือไม่
“ สังคมกำลังเพ่งมองบทบาทศาลยุติธรรมว่า เป็น 2 มาตรฐานหรือไม่ จริงๆ ผมคิดว่า ศาลยุติธรรมมีหลายมาตรฐาน แต่มีหนึ่งบรรทัดฐาน โดยต้องยอมรับว่า คดีหนึ่งๆที่ อาจจะดูเหมือนว่า ฟ้องข้อหาเดียวกัน แต่การตัดสินคดีต่างกัน ซึ่งบรรทัดฐานก็คือความยุติธรรมเฉพาะคดี ความยุติธรรมไม่ใช่เสื้อโหล S M L ความยุติธรรมเฉพาะคดีเป็นเหมือนสินค้าแฮนด์เมด”
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ความยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการคุ้มครอง ป้องกันและรักษาสังคม ไม่ใช่กระบวนการที่ต้องมีบรรทัดฐานเดียว ดังนั้น ความยุติธรรมต้องมีความแตกต่างไม่ใช่เป็นลักษณะไม้บรรทัดวัดได้เหมือนกัน ทั้งนี้ ต้องเป็นความยุติธรรมที่อธิบายต่อประชาชนได้
“การตัดสินคดีของศาลนั้น ให้ท่านเลือกระหว่างถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง หรือถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ อะไรเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่ากัน ซึ่งเป็นจุดที่ท้าทาย ทั้งนี้เชื่อว่าจิตวิญญาณของผู้พิพากษาถ้าต้องปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์รักษา ความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม ความเป็นกลางความถูกต้อง เพื่อปกป้องคุ้มครองสังคม สถาบัน และรักษากฎกติกาสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย แม้จะต้องเดิมพันด้วยชีวิตก็ยอม” โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว และว่า ปัจจุบันศาลพัฒนาไปสู่มืออาชีพมากขึ้น มีความรอบรู้มากกว่าตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะการมุ่งเสริมบทบาทศาลไทยให้เป็นที่ประจักษ์สากล ภายในปี 2556 ตามวิสัยทัศน์ของศาลยุติธรรม