อชิรวิทย์ชี้ทางเดินออกจากวิกฤต ต้องกลับไปเริ่มต้นจากศูนย์
ย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุการณ์ 19 ก.ย.49 ลั่นมัวแต่ดึงดัน ยืดเยื้อต่อไป ประเทศชาติก็ไม่มีวันสงบ ขณะที่เรื่องยุบสภาพบกันครึ่งทาง ส่วน “ณรงค์ โชควัฒนา” เสนอแก้ปัญหาทั้งตัวบุคคล กฎหมายให้มีความเข้มแข็ง ชี้ทำผิดวิธีจะกลายเป็นวิกฤตต่อเนื่อง เรื่องราวจบชั่วคราว อาจสร้างปัญหาใหม่ที่น่ากลัวกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง Thailand at Risk “วิกฤตความเสี่ยงประเทศไทยแล้วเราจะไปได้อย่างไร” มีพลตำรวจเอกอชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช รองประธานคณะอนุกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล, ดร.ณรงค์ โชควัฒนา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561),ดร.เติมศักดิ์ สุวรรณศักดิ์ รองประธานอนุกรรมการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ ลักขณาภิชนชัช ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุมศาลาชื่นอารมณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยจะไม่มีทางออกอีกต่อไป หากไทยไม่กลับไปสู่ที่จุดต่ำสุด หรือ จุดศูนย์ แล้วเริ่มต้นกันใหม่ โดยเริ่มย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เพราะหากแต่มัวแต่ดึงดันและยืดเยื้อกันต่อไปด้วยการใช้ความรุนแรง ประเทศชาติก็ไม่มีวันสงบ ซึ่งปัญหาทั้งหมดต้องแก้ที่เหตุของปัญหา ทั้งเรื่องของบุคคลและกฎหมาย
“จากเหตุการณ์การปะทะกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทเรียนเตือนใจว่า ถึงเวลาต้องถอยคนละ 5-10 ก้าว ตรึกตรอง ตั้งสติ เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ เริ่มเจรจาด้วยสันติ ประนีประนอม อย่างที่สุด ไม่เพียงมุ่งประเด็น เพียงการยุบสภา ที่ 9 เดือน 6 เดือน หรือ 15 วัน แต่อยากให้พบกันครึ่งทาง”
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวอีกว่า การเริ่มต้นใหม่ ต้องมีการเจรจาอย่างประนีประนอม ใช้ความเมตตา สันติวิธี ตั้งสติให้มั่น ให้อภัย เอาใจทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) , ภาคประชาชน ,กลุ่มเสื้อหลากสี และทุกๆกลุ่ม โดยยึดหลักความเป็นธรรม ให้การตัดสินเรื่องคดีพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งอดีตและปัจจุบันต่างๆ มาจากกระบวนการของศาล ไม่ใช่การลงโทษจากกลุ่มคน และใช้การชุมนุมขับไล่เช่นทุกวันนี้มาเป็นการหาทางออก ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการต่อสู้ของกลุ่มชนชั้นแล้วมากกว่าการต่อสู้เพื่อตัวบุคคลแล้ว การเรียกร้องของคนจนออกมาโจมตีคนรวย หากไม่รีบแก้ไข และยังแข็งขืนกันไป หลายคนจะไม่มีที่อยู่ในแผ่นดินไทย”
ขณะที่ดร.ณรงค์ กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่บานปลายว่า เกิดขึ้นมาจากความไม่เข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริง การเจรจา หรือสันติวิธี คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกทั้งหมด ต้องแก้ปัญหาจากปัญหาทั้งตัวบุคคลและตัวกฎหมาย ให้มีความเข้มแข็งขึ้น เพราะหากผิดวิธี จะกลายเป็นวิกฤตต่อเนื่อง เรื่องราวจะจบชั่วคราว และอาจจะสร้างปัญหาใหม่ที่น่ากลัวกว่าเดิม
“เราต้องใช้หลักจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้ไว้ 3 อย่าง ดังนี้ ว่า เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาช่วยแก้ไขปัญหา ให้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริง ว่าคืออะไร เพราะหากมุ่งไปที่อาการในสิ่งที่เกิด จะไม่มีทางจบ เริ่มจาก การเข้าถึงความจริงของปัญหา การนำรายงานจากข่าวกรองแล้วเอาความไม่จริงไปแก้ปัญหาก็ไม่สำเร็จ ต้องพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ และส่วนคำว่าพัฒนา จะเรียกว่าแก้ปัญหาก็ได้ ซึ่งจะช่วยการทำให้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลจากการเรียกร้องกับคนกลุ่มเดียว แต่มาจากปัญหาที่กลุ่มชุมนุมคิดว่าเป็นระบบอำมาตย์ และเจาะจงทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ถูกจุด มากกว่าการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว แต่เป็นอำนาจทางการเมือง สร้างแรงสังคมเป็นชนชั้นที่ออกมาต่อสู้กันระหว่างชนชั้นแรงงานรากหญ้าในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร
“จากนี้ไปอย่ามองข้ามการขัดแย้งทางความคิด เพราะมีความสำคัญมากกว่าการเมือง ศึกษาการเรียกร้องที่เกิดขึ้นว่าเป็นวิธีที่สมควรหรือไม่ อาจเป็นเพียงแนวความคิดของคอมมิวนิสต์ แต่ต้องมุ่งให้เอาชนะด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นไปอย่างสันติด้วย เพราะความต้องการการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนจะเป็นการแก้ปัญหา หรือสร้างปัญหาที่ร้ายแรงมาก หากยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย เพราะการมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ทำอยู่ปัจจุบัน มุ่งเพียงแค่ ถ้าฝ่ายใดชนะได้จะมีอำนาจรัฐ ใครแพ้เป็นผู้ก่อการร้าย สิ่งนี้คือ คำตอบของปัญหา ที่ต้องนึกไตร่ตรอง”
ส่วนดร.เติมศักดิ์ กล่าวว่า อีกสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งเริ่มจากการขัดแย้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ ความเลื่อมล้ำระหว่างคนรวย คนจน จนสู่การเมืองการปกครอง เรื่อยมา จนมีรัฐธรรมนูญ ความที่ไม่ชัดเจนและไม่โปร่งใสของการดำเนินงาน ที่มาจากรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคน ไม่ได้มาจากกลุ่มประชาชนที่แท้จริง และเกิดการยอมรับและไม่ยอมรับ จากนโยบายสาธารณะ ทั้ง ปี 2540 และ 2550 ทำให้เกิดความเสี่ยงครั้งนี้ อีกทั้งการการที่ประเทศไทยเน้นการส่งออก หันมาทำเกษตรกรรมอย่างเดียว ก็รอดยาก จึงต้องถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องแก้ไขกันให้มากเรื่องความแตกต่างทางด้านชนชั้น ไม่ดูถูเหยียดหยาม และรักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีมาตรการลดช่องว่าง อาทิเช่น การเก็บภาษีรายได้ ภาษีที่ดิน ใครมีมากจ่ายมาก ใครมีน้อยจ่ายน้อย เป็นต้น