ประชันนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ “ลมปากเลื่อนลอยพรรคการเมือง?”
ความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของแรงงานไทยมีให้เห็นทั่วไป โดยเฉพาะในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลยิ่งสุ่มเสี่ยงถูกเอาเปรียบกดค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แม้ว่าการกระทำของผู้ประกอบการจะผิดกฎหมาย แต่แรงงานคงไม่อาจหาญพอที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม เพราะต้องแลกกับการไม่มีงานทำ
.............................
การตีปี๊บหาเสียงด้วยนโยบายค่าแรงของพรรคการเมืองมีให้เห็นทุกฤดูกาลเลือกตั้ง จึงไม่แปลกอะไรที่เห็นพรรคการเมืองน้อยใหญ่โหมกระแสขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อซื้อใจกลุ่มแรงงานอย่างที่เคยทำมาในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ
คำถามคือจะขึ้นจริงอย่างที่พูดหรือไม่ อะไรคือหลักประกันว่าแรงงานจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ?
ประเทศไทยมีแรงงานในระบบร่วม 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2–3 ล้านคน ส่วนที่ได้รับค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้วก็อาจจะได้รับประโยชน์โดยอ้อม เพราะมีโอกาสส้มหล่นได้ปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นเป็นทอดๆไปเช่นกัน
แน่นอนว่าผู้ใช้แรงงานทั่วทุกสารทิศต่างยินดี แม้ลึกๆจะยังเคลือบแคลงอยู่ก็ตาม
พรรคการเมืองประชันนโยบายเอาใจกรรมกร
ประชาธิปัตย์ เดินหน้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี ยืนยันว่าสามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากได้เว้นช่วงเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในทางกลับกันเชื่อว่าหากเพิ่มค่าแรงสูงเกินไป เช่น 300 บาท อาจทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างงานบางส่วน
เพื่อไทย ยืนกรานปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพดานล่างเป็น 300 บาทต่อวัน ส่วนพื้นที่ใดมีค่าครองชีพสูงก็จะปรับเพิ่มตามสัดส่วน โดยจะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง 10% ใน 2 ปี และให้ผู้ประกอบการนำเงินส่วนต่างมาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงาน ขณะเดียวกันจะกำหนดเกณฑ์ค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงานครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นรวมถึงหาตลาดรองรับเพื่อกระจายสินค้าด้วย
ภูมิใจไทย ไม่มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่มองปัญหาแรงงานอพยพจากชุมชนสู่เมือง ว่านอกจากจะไม่มั่นคงในชีวิตแล้วยังเสี่ยงตกงาน เนื่องจากในเขตเมืองมีการกระจุกตัวของแรงงานมากกว่าจำนวนงาน สิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วนคือการสร้างงานในภูมิลำเนาโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ซึ่งพรรคจะดำเนินนโยบายเพิ่มทุน สร้างที่ มีทาง และตั้งกองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง โดยใช้เงินกองทุนประกันสังคม
ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาทใน 3 ปี เว้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 5 ปีสำหรับแรงงานที่เพิ่งเริ่มทำงาน และส่งเสริมให้สถาบันการเงินของรัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับแรงงาน ที่ต้องการมีบ้าน พร้อมทั้งจัดคูปองสุขภาพ 5,000 บาทสำหรับผู้ใช้แรงงานปีละ 1 ใบ
พรรคชาติไทยพัฒนา ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเท่าไร ส่วนใหญ่เป็นภาพกว้าง อาทิ พัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงต่อตลาดแรงงานอุตสาหกรรม พัฒนาระบบประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยประโยชน์ผู้ใช้ แรงงาน ส่งเสริมให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์และกระบวนการในการระงับข้อพิพาทแรงงานที่ รวดเร็ว รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานมีเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองในการจัดตั้ง สหภาพแรงงาน
ขึ้น-ไม่ขึ้นค่าแรง ชี้ขาดที่ “คณะกรรมการไตรภาคี” ไม่ใช่รัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าพรรคการเมืองจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการเคาะปรับขึ้นแรงงานขั้น ต่ำได้ทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล ในทางตรงกันข้ามการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยึดหลักการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ โดยมีกลไกหลักคือคณะกรรมการไตรภาคี 1 คณะมีกรรมการ 15 คน ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 5 คน ผู้แทนฝ่ายแรงงาน 5 คน และผู้แทนจากภาครัฐอีก 5 คน
สิ่งที่เกิดขึ้นในการหารือของคณะกรรมการฯ คือการถกเถียงเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเอง กล่าวคือนายจ้างจะต่อรองไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่หากจะปรับขึ้นจริงภาครัฐจำเป็นต้องอุดหนุนหรือให้เงื่อนไขบางประการเพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจต่อไป
ฝ่ายแรงงานก็ชัดเจนว่าเรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ด้วยเหตุผลค่าครองชีพเกินรายได้ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลง ส่วนตัวแทนจากภาครัฐตามหลักการคือเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหาจุดกึ่งกลางของความต้องการสองฝ่าย แต่ในข้อเท็จจริงอาจมีอำนาจต่อรองสูงกว่ากรรมการทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ยังไม่ใช่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ฉายภาพแรงงานไทยในชุมชนว่าปัญหาที่เกิดได้รับไม่ต่างไปจากแรงงานโดยทั่วไป เพียงแต่ระดับความรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะการถูกบีบคั้นจากนายจ้างเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาทิ กดค่าแรง กีดกันการรวมตัวต่อรองกับนายจ้าง อย่างไรก็ตามต้องแบ่งการวิเคราะห์ปัญหาแรงงานเป็น 2 ส่วน 1.แรงงานในระบบ 2.แรงงานนอกระบบ
สำหรับแรงงานในระบบนั้น ในชุมชนมีความต้องการแรงงานน้อย เพราะการกระจายตัวของเศรษฐกิจยังไปไม่ถึง นายจ้างจึงมีสิทธิเลือก บ่อยครั้งแรงงานจึงถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่แรงงานนอกระบบ อาทิ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันใด วันใดป่วยทำงานไม่ไหวก็จะขาดรายได้ จึงสมควรได้รับการชดเชยรายได้ในส่วนที่ขาดหายไป
เสนอพรรคการเมืองเน้นสวัสดิการกรรมกร แทน นโยบายขึ้นค่าแรงฉาบฉวย
นายชาลี มองว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเป็นเพียงการสร้างวาทะกรรมขึ้นมาเพื่อหาเสียง และเชื่อว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคีจึงจะอนุมัติได้ ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แต่ถึงเวลาเมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลกลับไม่สามารถผลักดันได้ และก็มักจะมีเหตุผลมาอธิบายขบวนการแรงงานทุกครั้ง อย่างไรก็ตามอยากจะเสนอให้พรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลเร่งทำสวัสดิการให้แรงงานมากกว่าการทำนโยบายอย่างฉาบฉวย
“เราควรใช้คำว่าค่าแรงแรกเข้างาน ไม่ใช่ใช้คำว่าแรงงานขั้นต่ำ กล่าวคือต้องกำหนดว่าเมื่อแรงงานใหม่เข้าสู่ระบบจะได้ค่าแรงเท่าไร จากนั้น 1 มีเมื่อแรงงานมีฝีมือมีทักษะสามารถทำงานได้มากกว่าเดิมก็ควรมีการปรับขึ้นให้ทุกปี ตรงนี้ต้องทำเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้นายจ้างหาช่องทางหลบเลี่ยงได้อย่างในปัจจุบัน” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าว และว่านโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะสร้างปัญหาและความลักลั่นให้เกิดกับขบวนการแรงงาน
นายชาลี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ปัจจุบันในพื้นที่กทม.ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 215 บาท ซึ่งแรงงานในระบบรายใหม่เมื่อเข้ามาก็จะได้ 215 บาททันที ขณะที่แรงงานซึ่งทำงานมาแล้ว 1–2 ปีหรือมากกว่าก็ได้ค่าแรงเดิม 217 บาทต่อไป หากรัฐบาลใหม่ปรับเพิ่มค่าแรงได้จริงก็เป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือถึงจะเป็น 250 หรือ 300 บาทแล้ว แรงงานที่อยู่ในระบบก็จะไม่ได้รับการปรับเพิ่มอยู่ดี
“นโยบายนี้มีผู้ได้รับประโยชน์จริงๆไม่เกิน 3 ล้านคน ซึ่งเราก็ไม่ได้คัดค้านแต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลทำนโยบายบายแรงงานทุกคนอย่างเสมอหน้า ไม่ใช่หวังคะแนนเสียงอย่างเดียว อย่างน้อยก็มองในแง่ดีว่านักการเมืองยังเห็นหัวแรงงาน ทั้งๆที่ในอดีตไม่ค่อยมีนโยบายด้านแรงงานเลย” ผู้นำแรงงานรายนี้ระบุ
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศชุด นพ.ประเวศ วสี เป็นประธาน เสนอวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับแรงงานในชุมชนว่า ควรจัดตั้งองค์กรผู้ใช้แรงงานเพื่อร่วมคิดร่วมทำเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 10-20 คน แล้วเชื่อมโยงกันเป็นองค์กรใหญ่ บริหารจัดการสวัสดิการ จัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ จนถึงจัดตั้งธนาคารของผู้ใช้แรงงานเอง
ทว่าไม่มีพรรคการเมืองใดจัดทำนโยบายที่ขานรับแต่อย่างใด
“นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่ประกาศออกมา มุ่งแต่สร้างประชานิยมลูกกวาด เอาสีสันและรสชาติมาหลอกล่อขอคะแนนเสียง หวังอำนาจตำแหน่ง ไม่คำนึงถึงความสามานย์ของการได้มาและไม่สนใจว่าอะไรคือปัญหาที่ควรแก้ไขแท้จริง” ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป วิพากษ์
ยังมีข้อเคลือบแคลงประเด็นการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองต่างๆประกาศ ขณะที่กลับไม่ปรากฏนโยบายอื่นใดให้เข้าใจได้เลยว่าแต่ละพรรคตั้งใจและปรารถนาดีต่อขบวนการแรงงานจริง โดยเฉพาะแรงงานในชุมชนซึ่งถูกทอดทิ้งมาอย่างยาวนาน
ชะตากรรมแรงงานไทย จะต้องจำนนอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำเสมอมาและเสมอไป ... เช่นนี้หรือ?