เปิดบันทึก "หมอวิจารณ์" มองการชุมนุมกลุ่ม นปช.
เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และเป็นหนึ่งในเครือข่ายสถาบันทางปัญญญา ได้เขียน “บันทึกการเมืองไทย:เปิดใจต่อการชุมนุมของ นปช.” ไว้ใน http://gotoknow.org/blog/thai-politics/351875 โดยระบุว่า การชุมนุมของ นปช. มุมที่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ คือมุมของการแสดงความต้องการให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไปเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีระบบที่ช่วยลดช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจ
ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุว่า ในสังคมที่พัฒนาแล้วเขาเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าไปกว่าร้อยปี หรือหลายร้อยปี โดยที่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงมีการต่อสู้ล้มตายไปไม่น้อยแล้วแต่สังคม เช่นในฝรั่งเศสก็เกิดการปฏิวัติใหญ่ (ค.ศ. 1789) ผ่านสมัยนโปเลียนและกลับไปกลับมาระหว่างระบบกษัตริย์กับ republic จนถึง The Third Republic (เริ่ม ค.ศ. 1870) ใช้เวลายาวเกือบ 100 ปี ในอังกฤษก็มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจการปกครองประเทศมีการฆ่ากันเหมือนกัน เป็นการแย่งอำนาจระหว่างหลายฝ่าย แต่การเปลี่ยนแปลงของอังกฤษเริ่มมาตั้งแต่กว่า 350 ปีก่อน ที่กษัตริย์หมดอำนาจแบบ absolute monarchy ระบบรัฐสภาและการเมืองแบบตัวแทนค่อยๆ มีรูปแบบชัดเจน เป็นมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือพรรคคนรวย (Conservative) กับพรรคคนจน (Labour) ผลัดกันมีอำนาจ
“ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลไหนเริ่มกฎหมายมรดกที่โหดมากในสายตาเรา คือมรดกตกทอดของเศรษฐีเจ้าที่ดินจะถูกเก็บภาษีสูงมากจนทายาทเก็บไว้ไม่ไหว ต้องยกให้รัฐ กฎหมายนี้ช่วยสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมอังกฤษอย่างมาก ผมก็เคยอ่านพบว่า สังคมไหนความมั่งคั่งกระจุกอยู่ในคนส่วนน้อยอย่างรุนแรง ความยุ่งยากรุนแรงในสังคมจะตามมา จนอาจนำไปสู่ความล่มสลายของสังคม”ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ สคส. ระบุ และว่า ยังไม่เห็นข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมของ นปช. เพื่อเป้าหมายนี้ ไม่เห็นสาระที่เรียกร้องให้เขียนในรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข ที่สะท้อนเป้าหมายนี้ และที่จริงก็ไม่เห็นพรรคการเมืองไหนพูดถึงเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่กฎหมายกระจายอำนาจการปกครอง ที่ทำให้เกิด อบต. มากมาย และมีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปยังส่วนพื้นที่/ท้องถิ่น ริเริ่มโดยพรรคประชาธิปัตย์ ศ.นพ.วิจารณ์ ชื่นชมว่ากฎหมายนี้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ส่วนการชุมนุมของนปช.ที่ซ่อนเป้าหมายนำพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกนั้น ศ.นพ.วิจารณ์ ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ มีมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมต่ำ แม้จะเก่งแต่ก็ยอมรับคนชั่วเป็นผู้นำประเทศไม่ได้ รวมทั้งหลักฐานแวดล้อมว่าเงินจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการชุมนุมนั้นมาจากกลุ่มนี้ โดยสื่อมวลชนก็ลงข่าวกันอย่างเปิดเผย
เมื่อมาดูที่การปลุกระดมสร้างความแตกแยกเกลียดชังกันในบ้านเมือง ศ.นพ.วิจารณ์ บอกว่า ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะริเริ่มด้วยคนกลุ่มไหน เพราะสังคมแห่งความเกลียดชังเป็นสังคมที่ทุกคนเป็นผู้สูญเสีย และจะนำความเสื่อมอย่างอื่นๆ ตามมา รวมทั้งการพูดความเท็จ เพื่อหวังผลสร้างอารมณ์มวลชน
ขณะที่เหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน นั้น ศ.นพ.วิจารณ์ เห็นว่า การใช้คนปลอมตัวมาใช้อาวุธสงครามยิงในช่วงชุลมุน ซึ่งมีหลักฐานภาพถ่ายชัดเจน ไม่ว่าจะเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงบานปลาย หรือเพื่อทำลายคู่อริ หรือเพื่อผลอื่นใด เป็นความชั่วร้าย คนที่บงการอยู่เบื้องหลังต้องถูกประณามและต้องสอบสวนหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้
“ผมขอเรียกร้องให้มีการเจรจากัน หาทางตกลงกันโดยสันติ ผมไม่เห็นด้วยกับแกนนำ นปช. ที่ออกข่าวกระตุ้นความรุนแรงอยู่ทุกวัน ไม่เห็นด้วยกับทุกฝ่ายที่ใช้สื่อมวลชนให้ข่าวเพื่อใส่ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยสาระที่เป็นความจริงครึ่งเดียว หรือเป็นความจริงเพียงบางส่วน ปกปิดความจริงอีกบางส่วนไว้ วิญญูชนจึงพึงรับสารจากสื่อมวลชนด้วยวิจารณญาณ”