กสม. เล็งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ 10 เม.ย.
ศ.อมรา พงศาพิชญ์ เผยเล็งเชิญตัวแทนฝ่ายรัฐบาล แกนนำ นปช. สื่อ ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
วันนี้ (12 เม.ย.) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ดร.ปริญญา ศิริสารการ นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าพบผู้นำศาสนาอิสลาม คณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ณ สำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อรับฟังความคิดเห็นและขอรับคำปรึกษาต่อสถานการณ์และสภาพปัญหาในสังคมไทยในปัจจุบัน ตลอดจนความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างในด้านต่าง ๆ ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้เกิดความสุขต่อไป
โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ประกอบด้วย 1. ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 2. นายอรุณ วันแอเลาะ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 3. นายอรุณ บุญชม รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 4. นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 5. นายอับดุลเลาะ แอนดริส ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 6. นายอรุณ อีซอ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 7. ดร.วิศรุต เลาะวิถี ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 8. นายแพทย์มนัส วงศ์เสงี่ยม ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 9. นายการรีม อับดุลเลาะห์ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 10. นายทินกร มีหิรัญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี / เลขานุการ 11. นายสมชาย เจ๊ะวังมา ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี / ผู้ช่วยเลขานุการ
หลังจากการปรึกษาหารือแล้ว ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะ แถลงข่าวร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี โดยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรียังยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาโดยแนวทางสันติ ซึ่งหลักการของศาสนาอิสลามให้ความสำคัญต่อเรื่องสันติ เคารพกฎหมาย เคารพกติกาของสังคม ใช้หลักเมตตาธรรม จึงเห็นด้วยกับการประนีประนอม และการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงให้ยุติลง
2. การแก้ไขปัญหาระยะสั้นผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีเสนอว่า จะต้องดำเนินการลดความรุนแรงให้ยุติลงโดยเร็ว จำเป็นต้องมีการพูดคุย และปรึกษาหารือกันจากทุกฝ่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นหาหนทางยุติปัญหา
3. การแก้ไขปัญหาระยะยาว จุฬาราชมนตรีมีข้อเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรึกษากับผู้นำศาสนาทุกศาสนาและสร้างความเข้าใจโดยชี้แจงว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกศาสนาถือว่าผิดหลักศาสนาต้องใช้ความสันติในการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ศ.อมรา ตอบข้อซักถามถึงเหตุการณ์การปะทะกันที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ว่า กสม.ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์การที่เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง ทั้งนี้ กสม.จะตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะเชิญตัวแทนฝ่ายรัฐบาล แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) สื่อมวลชน ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ด้านนพ.ชูชัย กล่าวว่า การกำหนดกรอบกติกาการชุมนุมสาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ต้องสงบและปราศจากอาวุธนั้น ต้องกำหนดขอบเขตการชุมนุมแสดงความคิดเห็น และกล่าวถึงการประสานการเจรจาต่อนั้น กสม. ยังพยายามทำอยู่และฝากไปถึงแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมว่า กสม. พร้อมเป็นตัวเชื่อมในการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาทางออกของประเทศไทยต่อไป