ใกล้คลอด เว็บไซต์ “ฐานข้อมูลการเมืองไทย”
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการการแผนวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบทางสังคม หรือเว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลตรวจสอบบุคคลสาธารณะ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ขณะนี้กำลังเร่งสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชน เพื่อเปิดรับสมาชิกนำข้อมูลในระดับท้องถิ่นมาใส่ระบบร่วมกัน เพราะขณะนี้ในฐานข้อมูลยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ มีข้อมูลบุคคลสาธารณะแล้วประมาณ 3,000 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย มีข้อมูลขององค์กรรัฐวิสาหกิจครบแล้วทุกองค์กร มีกรณีศึกษาที่สำคัญๆ จากเหตุการณ์แล้วประมาณ 30 กรณี เป็นต้น
"ปัจจุบันได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลในลักษณะของจีไอเอส (Geographic Information System : GIS) แล้วเพื่อการแสดงผลข้อมูลในระบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ว่าในส่วนของจีไอเอสนี้จะมีเพียงข้อมูลในรูปแบบเขตการเลือกตั้งระดับ ประเทศ ภาค จังหวัด จนถึงระดับตำบล และยอมรับว่าโครงการนี้ 1 ปีที่ผ่านยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นวางฐานของระบบอยู่ ซึ่งกำลังพยายามพัฒนาอยู่"
ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า ระบบนี้ถูกออกแบบให้ครอบคลุมในหลายมิติ สามารถมองเห็นข้อมูลได้หลายทิศทาง อาศัยการออกแบบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ หลักการ คือ ข้อมูลในระบบนี้จะเป็นข้อเท็จจริง ปราศจากอคติ ภาคประชาชนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยสามารถสร้างส่งข้อมูลการเมือง นักการเมือง หรือประเด็นปัญหาต่างๆ ในระดับพื้นที่ท้องถิ่นของตนได้ โดยจะมีทีมงานที่เป็นกลางและเชื่อถือได้คอยทำหน้าที่ตรวจสอบตรวจทานความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง มีการเรียบเรียงนำเข้าสู่ระบบข้อมูลนี้อย่างต่อเนื่อง โดยฐานข้อมูลนี้จะมีหน้าที่หลัก คือ การเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่มีข้อมูลอยู่แล้ว และรับข้อมูลใหม่จากภาคประชาชน ไม่มีการวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเพียงตลาดข้อมูลเท่านั้น
“เว็บไซต์นี้ทำหน้าที่เสมือนพ่อครัวที่มีหน้าที่คอยปรุงอาหารข้อมูล จากนั้นใครจะนำไปใช้ก็ได้ ถ้าเปรียบในทางฟิสิกส์ฐานข้อมูลนี้ก็เป็นลักษณะของฟิวชั่น (Fusion) ที่เกิดขึ้นจากอะตอมเล็กๆ รวมกันแล้วมีพลังยิ่งใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เพราะอยากให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในอนาคตเกิดจากฐานข้อมูลบนข้อเท็จจริง ไม่ใช่อยู่ในอารมณ์ ความรู้สึก หรือการถูกปลุกเร้าจากสิ่งอื่น เชื่อว่า ฐานข้อมูลนี้จะทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนมีพลัง มีข้อเท็จจริง มีความถูกต้องมากขึ้น ฐานข้อมูลการเมืองไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นความฝันอย่างหนึ่งที่อยากให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และใช้ข้อมูลร่วมกัน ”ศ.ดร.จรัส กล่าว
สำหรับลักษณะการเข้าถึงและเรียกใช้ข้อมูลนั้น คณบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ประชาชนทั่วไป (Free User) จะสามารถชมข้อมูลขั้นต้นได้ เช่น ประวัตินักการเมือง ประเด็นนโยบายการเมือง พรรคการเมือง องค์กรรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ส่วนการเข้าถึงและการขอนำข้อมูลในเชิงลึก เช่น เบื้องต้นปัญหาทุจริตต่างๆ ระหว่างเอกชนกับรัฐ หรือประวัติคดีทุจริตที่สำคัญในอดีต ฯลฯ ไปใช้นั้น จะต้องสมัครเป็นสมาชิก โดยจะกำหนดระดับการเข้าถึงข้อมูลตามประเภทสมาชิกในอนาคตต่อไป
" 2-3 เดือนข้างหน้าจะเปิดรับสมาชิก เฉพาะประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชนเท่านั้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ โดยสมาชิกต้องเสียค่าธรรมคนละ 200 บาทต่อปีเพื่อเป็นทุนในการบริหารจัดการฐานข้อมูล และที่สำคัญการจะเป็นสมาชิกได้ต้องผ่านหลักเกณฑ์ขั้นตอนในการพิสูจน์และตรวจสอบสถานะของบุคคลนั้นๆ ก่อนเพราะจุดประสงค์ของฐานข้อมูลนี้ต้องการเป็นพลังตรวจสอบของภาคประชาชนอย่างแท้จริง"
เมื่อถามถึงแผนในอนาคตของระบบฐานข้อมูลตรวจสอบบุคคลสาธารณะ ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า จะต้องมีส่วนข้อมูลของท้องถิ่น ในส่วนของระบบรองรับข้อมูลในอนาคตนั้นเว็บไซต์นี้ได้เตรียมเซิร์ฟเวอร์ ที่มีพื้นที่สามารถรองรับข้อมูลรายบุคคลได้ถึง 30,000 คน รองรับได้ทั้งข้อมูลเนื้อหา และมัลติมีเดีย มีขนาดจุข้อมูลรองรับได้ถึง 3 ปี เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างประเทศที่มีฐานข้อมูลลักษณะนี้ ที่ใช้เวลา 5-10 ปีในการทำให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่เข้มแข็ง แต่คิดว่าประเทศไทยสามารถใช้เวลาทำได้น้อยกว่านั้น
ส่วนระบบการรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูล ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า การแสดงข้อมูลในระดับของข้อมูลทั่วไป การเข้าถึงของประชาชนทั่วไปนั้นจะถูกแสดงผลข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลระดับ ต้น ซึ่งต่างจากข้อมูลระลึกลึกจะแยกไว้ในอีกเซิร์ฟเวอร์หนึ่งที่มีระบบความปลอดภัยสูงเท่ากับความปลอดภัยข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เนื่องจากใช้ทีมงานเครือข่ายเดียวกัน
ศ.ดร.จรัส กล่าวด้วยว่า ระบบฐานข้อมูลนี้ต้องการจะให้ประชาชนมีพลังเพียงพอที่จะควบคุม ดูแลนักการเมือง ต้องการสร้างนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ เน้นการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นกลาง นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบ และเน้นการการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริงร่วมกัน หัวใจสำคัญของระบบฐานข้อมูลนี้อยู่ที่การเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลสาธารณะ และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบุคคลสาธารณะที่กระจัดกระจายอยู่ มาเป็นข้อมูลเดี่ยว ทั้งเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกัน (Stand alone information) ให้เข้าสู่ระบบ และเน้นให้ภาคประชาชน ประชาสังคม ท้องถิ่น สามารถร่วมสร้างและเข้าถึงฐานข้อมูลนี้ร่วมกันได้
"บางครั้งคนที่มีข้อมูลอยู่ในมือก็ใช้ข้อมูลนั้นไปในทางเพื่อประโยชน์ของตนเอง ทำให้ประชาชนเสียเปรียบ จนบางครั้งก็ต้องกลายเป็นเครื่องมือของผู้ฉวยโอกาสเหล่านั้นได้ง่ายๆ ทั้งที่เรามีความตั้งใจดี บางทีข้อมูลนั้นก็ไม่ถูกต้อง และต้องยอมรับว่าข้อมูลเป็นความจำเป็นพื้นฐานของภาคประชาสังคมที่ต้องใช้ใน การตรวจสอบ ควบคุม นักการเมืองและระบบราชการ”
ทั้งนี้ โครงสร้างของระบบฐานข้อมูลนี้ ประกอบด้วย นักการเมือง กลุ่มการเมือง พฤติกรรมของนักการเมือง พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กรอิสระ ศาล รัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรภาคประชาชน พื้นที่ภูมิศาสตร์การเมือง หน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐ หรือรับสิทธิพิเศษจากรัฐ และประเด็นนโยบายหรือประเด็นร้อนทางการเมือง มีเครือข่ายความร่วมมือข้อมูล ประกอบด้วย ศูนย์ข้อมูลนักการเมืองไทย (www.thaiwatch.com) สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (สXส) องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เครือข่ายประชาชนต่านคอร์รัปชั่น โครงการศูนย์ติดตามประชาธิปไตย บริษัทสยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต จำกัด เครือข่ายสื่อภาคประชาชน 7 ภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) ผลการค้นหาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม(ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(ส.ต.ง.) ฯลฯ ทั้งนี้สามารถเข้าชมเว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลตรวจสอบบุคคลสาธารณะในขั้นต้นได้ ที่ www.tpd.in.th