นักวิชาการเสนอโมเดลปฏิรูปปท.2 ปีแก้วิกฤต เครือข่ายชุมชนชี้ปัญหาเร่งด่วนต้องแก้
นักวิชาการสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทย 2 ปี รื้อระบบสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-ยุติธรรม ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ จากตัวแทนประชาสังคม
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ร่วมกับ เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน จัดสัมนา “ยุบไม่ยุบสภา แก้ปัญหานักการเมือง ปฏิรูปประเทศไทย แก้ปัญหาประชาชน” โดย ดร.นนทวัชร์ นวตระกลูลพิสุทธิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ไขวิกฤติบ้านเมืองต้องมองข้ามการยุบหรือไม่ยุบสภา เพราะไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ทางออกที่เหมาะสมที่สุดขณะนี้คือการวางแนวทางปฏิรูปประเทศไทยให้สอดคล้องกับปัญหาที่ประชาชนเผชิญโดยเร็วและยั่งยืน
ดร.นนทวัชร์ นำเสนอแผนปฏิรูปประเทศไทยภายใน 2 ปี ของสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรมว่า มีเป้าหมายหลักสร้างสังคมที่เป็นธรรม เป็นสุขและมั่นคง โดยกำหนดขอบเขตการปฏิรูป 3 ระดับ คือ 1.ปฏิรูประบบสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมในสังคมและยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ โดยรัฐบาลต้องทำให้ชุมชนซึ่งด้อยโอกาสมีตัวตนในสังคม, ปรับระบบกรรมสิทธิ์และทรัพย์สิน, การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากร, สัมปทานและการอนุญาตของรัฐ รวมถึงระบบภาษี 2.ปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรม เพื่อขจัดความไร้ประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรม โดยปรับปรุงการดำเนินขององค์กรที่เกี่ยวข้องให้โปร่งใส กระจายอำนาจ, ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ, แก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และ 3.ปฏิรูปการเมือง เพื่อให้หลุดพ้นจากระบบเผด็จการทางรัฐสภาทุกรูปแบบ พร้อมกับสร้างระบบประชาธิปไตยที่ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่
โดยเสนอให้แผนดังกล่าวขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่ประกอบด้วยตัวแทนประชาสังคมทุกภาคส่วนเป็นที่ปรึกษา รวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ประสานงาน และเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณะ ทำงานพร้อมกับคณะกรรมการย่อย คือ คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการปฏิรูปการบริหาร คณะกรรมการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ
นักวิชาการสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวอีกว่า ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เพื่อให้แผนปฏิรูปมีความต่อเนื่องบังคับใช้ตลอดไปแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่
“ประเทศไทยเหมือนคนป่วยหนักที่รักษาไม่หายด้วยการกินยา แต่ต้องผ่าตัดทั้งตัว เพราะโรคหรือปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนประสบอยู่สะสมมายาวนานหลายสิบปีและไม่ได้รับการแก้ไข การปฏิรูปเท่ากับการผ่าตัดประเทศเพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลายเป็นคนใหม่” ดร.นนทวัชร์ กล่าว
ศ.อัมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าว ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานรัฐบาลกับผู้ชุมนุมและฝ่ายต่างๆ ว่าการปฏิรูปครั้งนี้อาจจะได้คำตอบหรือไม่ก็ได้ เนื่องจากสภาพปัญหาที่ชาวบ้านประสบมีความหลากหลายซับซ้อน แต่การที่เครือข่ายชุมชนและนักวิชาการพยายามแลกเปลี่ยนหาทางออกเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สิ่งสำคัญคือการจัดลำดับความสำคัญและปรับปรุงข้อมูลให้สามารถใช้ประโยชน์ เพื่อเสนอแนวคิดเชิงนโยบายและได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ยินดีเป็นเครื่องมือของภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำซึ่งเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามประชาชนเองต้องเป็นแกนกลางสำคัญ รู้ว่าปัญหาคืออะไร และผลักดันให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบอย่างตรงจุด
“ชาวบ้านต้องพูดเอง ทำเอง ส่งเสียงให้ได้ยิน อย่ารอเพียงการช่วยเหลือของใคร แต่รู้จักใช้หน่วยงานให้เป็นประโยชน์ นี่คือแนวทางการปฏิรูประเทศอย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน ซึ่งประกอบด้วย 26 เครือข่ายองค์กรชุมชน เห็นด้วยว่าการยุบสภาไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาฐานรากที่สะสมมายาวนาน แต่เกิดจากระบบราชการที่ไม่แก้ปัญหาชาวบ้าน โดยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทย เน้นกระบวนการแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม มีข้อเสนอดังนี้
กรณีปัญหาที่ดินและสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ปัญหาที่ดิน น้ำประปา การไฟฟ้า ควรแก้ไขให้ได้ภายใน 1 เดือน กรณีปัญหาผลกระทบด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น มาบตาพุด, เหมืองแร่ทองคำ, ขุดลอกตะกอนลุ่มน้ำกั่วป่า ควรแก้ไขภายใน 1 เดือน ส่วนการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า, การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง, แผนพัฒนาภาคใต้ ให้แก้ไขภายใน 1 เดือน กรณีปัญหาคนจนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติและชนเผ่า ควรแก้ไขภายใน 1 เดือน กรณีการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ความรุนแรงชายแดนใต้, การพัฒนากลุ่มเยาวชน กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน ควรแก้ไขภายใน 3 เดือน และกรณีการปฏิรูปประเทศไทย ให้มีการตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเพื่อจัดเวทีระดมความเห็นเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปจากทุกฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน นักวิชาการและชุมชน ภายใน 15 วันโดยให้คณะกรรมการฯ รวบรวมและแถลงผลการทำประชาพิจารณ์ สุดท้ายคือให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นอิสระประกอบด้วยทุกภาคส่วนดำเนินการภายใน 2 ปี โดยทางเครือข่ายฯ ได้เตรียมยื่นข้อเสนอดังกล่าวให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป.
ที่มา:โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา http://www.community.isranews.org/