เกาะกระแสเลือกตั้งจากรากหญ้า "ชาวบ้าน" ขายนโยบายอะไรให้นักการเมือง?
ทันทีที่นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างเร่ขายนโยบายประชานิยมหวังกอบโกยคะแนนเสียงรากหญ้า อีกฟากหนึ่งศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนพาไปสำรวจว่า "ชาวบ้าน"ขายอะไรให้นักการเมืองที่หวังจะให้เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่-ความหวังใหม่กันบ้าง!...
.....................................
กระจายที่ดิน-กระจายอำนาจ ฝันของชุมชน
ประเด็นแรง...นโยบายร้อน...คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ดินและการกระจายอำนาจ ที่พรรคใหญ่หลายพรรคชูโรงจัดความสำคัญไว้เป็นลำดับต้นๆ พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) สะท้อนว่า ด้วยเหตุผลที่ดินทำกินเป็นเรื่องใหญ่ เป็นฐานทรัพยากรสำคัญ ที่เป็นผลพวงให้ในมิติเศรษฐกิจ เป็นปัญหาปากท้อง เพราะเมื่อใดที่ชาวบ้านยังขาดความมั่นคงในที่ทำกิน แน่นอนสภาพชีวิตในมิติอื่นย่อมย่ำแย่ไปด้วย
และแม้จะมีความคืบหน้า ชาวบ้านได้สัมผัสกับโฉนดชุมชน (บ้าง) และมีความหวังต่อแนวทางปฏิรูปที่ดินทำกินใหม่ที่มาในรูปแบบการมีธนาคารที่ดินและการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า แต่ก็ยังค้างเติ่งในรัฐบาลชุดนี้
ดังนั้นทิศทางของภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาที่ดิน จึงเห็นควรใครก็ตามที่จะเสนอตัวมาเป็นรัฐบาลควรสานต่อใน 3 เรื่องดังกล่าวให้จบถ้วนกระบวนความ
“ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายต้องมีกลไกการติดตาม อย่างโฉนดชุมชนผลในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นเลย และคาดว่าหลังยุบสภาจะทำสำเร็จแค่ 2 แห่งคือที่คลองโยง จ.นครปฐม และแม่อาว จ.ลำพูน เหลืออีก 33 แห่ง ขณะที่การแก้ไขรายกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น การประกาศแผนพิทักษ์ป่าดงใหญ่ ที่โนนดินแดง บุรีรัมย์ ก็ต้องรีบแก้ไข เพราะชาวบ้านกำลังถูกอพยพ” พงษ์ทิพย์ ยกตัวอย่างและว่า
นอกจากยังเห็นควรให้ผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากบทเรียนที่ผ่านมาพบว่าปัญหาที่แก้ไม่ได้หลายจุดมีข้อติดขัดที่การรวมศูนย์อำนาจ การตัดสินใจที่อยู่กับเจ้ากระทรวง ทำให้นโยบายแก้ไปปัญหาที่ดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน
การกระจายอำนาจจึงเป็นนโยบายสำคัญเพื่อให้การปฏิรูปโครงสร้างการกระจายการถือครองที่ดินซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของการแก้ปัญหาที่ดินเกิดขึ้นได้จริง...
ตั้งเขตปกครองพิเศษกลไกสลายราชการส่วนภูมิภาค
ในแง่การกระจายอำนาจนี้ สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ไม่ได้มีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองโดยตรง แต่ในฐานะผู้ขับเคลื่อนงานพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน อันหมายถึงการวางรากฐานให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง ตระหนักรู้ถึงพลังของตนที่จะรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศ คือแนวทางสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลใหม่น่าจะใช้เชื่อมร้อยกับการกระจายอำนาจ ดังที่ ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธาน สพม.บอกไว้
ข้อนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) สนับสนุนด้วยเหตุว่าประชาธิปไตยชุมชนจะช่วยทลายโครงสร้างในแนวดิ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่แท้จริง เพราะขับเคลื่อนมาจากฐานล่างถึงระดับนโยบายชาติที่ชุมชนสร้างและมีส่วนร่วมในการออกแบบบูรณาการ
“เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อเอาชนะ”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เห็นว่า สพม. ในฐานะที่มีโครงสร้างระดับจังหวัดที่มาจากฐานสภาองค์กรชุมชนก็ควรทำหน้าที่เสริมให้ประชาธิปไตยขยายตัว เพราะเมื่อผนวกกับส่วนกลางจะเกิดการชวนคิดชวนทำ จะได้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยจากฐานล่างขึ้นบนตรงตามแนวทางปฏิรูปประเทศ
และหากเจาะลึกลงไปกว่านั้น ส่วนที่พูดกันมากทั้งเป็นกระแสเสียงวิพากษ์อย่างการยุบโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาค ก็เป็นข้อคิดเห็นที่สอดคล้องกับความเห็นภาคประชาชนหลายส่วน ไพโรจน์ พรหมสาส์น สมาชิก สพม. จากเครือข่ายผู้ประสานงานองค์กรชุมชน ตั้งข้อสังเกตต่อพรรคการเมืองที่จะหยิบยกประเด็นนี้ไปใช้เป็นนโยบายว่า นี่ก็คือการให้ท้องถิ่นจัดการตนเองในรูปแบบหนึ่ง แต่หากจะให้ยุบไปเสียทั้งหมดคงยาก ดีไม่ดีจะทนแรงต้านจากกลุ่มราชการ (ซึ่งคงไม่ยอมง่ายๆ) สุดท้าย พังครืน!!!
“เครือข่ายฯ จึงเห็นว่า พรรคการเมืองต่างๆ น่าจะกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่รับผิดชอบแยกส่วนให้ชัด และเสนอระบบการปกครองรูปแบบพิเศษ ให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจจัดการบริหารจังหวัดของตนเอง ถ้าทำได้ ราชการส่วนภูมิภาคจะหมดอำนาจโดยปริยายโดยไม่ต้องประกาศยกเลิกส่วนภูมิภาคด้วยซ้ำ”
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิอิสลามภาคใต้ และสมาชิก สพม. เห็นด้วยและสะท้อนรูปธรรมการจัดการตนเองที่มูลนิธิฯ ร่วมกับประชาสังคมคิดอ่านผ่านกระบวนการของ สพม. เพื่อผลักดันสู่พรรคการเมืองต่างๆ ว่า กว่า 1 ปีเศษที่จัดเวทีรวบรวมความเห็น 3 จังหวัดชายแดนใต้และอีก 4 อำเภอใน จ. สงขลา เห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีนโยบายจัดการปกครองรูปแบบพิเศษในจังหวัดที่มีศักยภาพหรือมีลักษณะพิเศษเชิงอัตลักษณ์
“ผมมาจากภาคใต้และเห็นว่าปัญหาภาคใต้มาตลอด 7 ปี เรามีรัฐบาล 5 รัฐบาล แต่วันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด เพราะรัฐบาลไม่ได้ศึกษารากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง การใช้กำลังหรือทุ่มงบประมาณลงไปไม่ได้ทำให้เห็นรูปธรรม เพราะความจริงก็คือปัญหามันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชน”
พล.ต.ต.จำรูญ อธิบายว่า เพราะประชาชนมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา แต่รัฐส่งคนที่แตกต่างจากชาวบ้าน ซ้ำมีแนวคิดไปที่อำนาจนิยมมาแก้ไข ภาคใต้จึงไม่สงบสุข จึงเห็นทางว่าถ้าพรรคการเมืองใดจะรับข้อเสนอการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์และให้คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในทางการเมือง คือให้ผู้ปกครองเป็นคนในท้องถิ่นเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเองก็ยินดีที่จะให้ข้อมูล
“เพราะนั่นไม่เป็นเพียงผลดีต่อพื้นที่เดือดร้อน ซึ่งก็คือชาวบ้านผู้ได้ชื่อว่าเลือกท่านมาเป็นรัฐบาล แต่ยังตอบโจทย์นโยบายกระจายอำนาจได้ชัดเจน”
ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองภาพฝันหลังปิดหีบเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย โดยคณะกรรมการประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน (คอป.) ซึ่งเมื่อเร็วๆ เพิ่งยื่นให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับไปพิจารณา และเตรียมจัดเวทีเชิญพรรคการเมืองมารับฟัง
แก้ว สังข์ชู ประธาน คอป. เล่าถึงที่มากว่าจะได้เป็นข้อเสนอ ซึ่งตนเรียกว่า “ข้อเสนอของชุมชนเพื่อชุมชน” เพราะทั้งหมดล้วนเกิดจากความคิดรวบยอดที่เครือข่ายองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศได้ร่วมกันดำเนินงาน ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นขบวนการผ่านประเด็นที่หลากหลาย เห็นทั้งรูปธรรมความสำเร็จ อุปสรรคที่ล้มเหลว ประมวลเป็นเนื้อหาด้วยการสังเคราะห์จากเวทีระดับจังหวัดและภูมิภาค เข้าสู่สมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนเมื่อกลางเดือนมี.ค. ทีผ่านมา ก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย
ประกอบด้วย 1.การคืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่น โดยให้ทุกหน่วยงานส่งเสริมจัดตั้งพัฒนาคุณภาพสภาองค์กรชุมชนในทุกระดับเพื่อเป็นเวทีกลางเชื่อมโยงกลุ่ม/องค์กรในชุมชนท้องถิ่นมาเรียนรู้การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานท้องถิ่น ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ต้องร่วมมือ และสนับสนุนการจัดทำแผนชุมชนท้องถิ่นให้ครอบคลุมแก้ไขปัญหาทุกด้านของคนในชุมชนพร้อมกับบรรจุแผนนั้นในข้อบัญญัติท้องถิ่นด้วย ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบเพื่อลดอำนาจส่วนกลางและตรากฎหมายใหม่เพื่อสนับสนุนการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
ซึ่งก็คือการการกระจายอำนาจ โดยให้พิจารณาแนวทางดำเนินการเบื้องต้นคือส่งเสริมให้จังหวัดที่มีความพร้อมเป็น อปท.ขนาดใหญ่, พัฒนากลไกการทำงานร่วมในรูปแบบสภาประชาชนในระดับจังหวัดโดยมีผู้แทนของภาคประชาชนอย่างน้อย 2 ใน 3 และให้รัฐสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนโดยตรง ควบคู่กับการจัดงบประมาณในระบบราชการและท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานของตนเอง
2 ปฏิรูปการจัดสรรที่ดินเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน เน้นการกระจายการจัดการที่ดินสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยหลักใหญ่ๆ สอดคล้องกับที่ คปท. นำเสนอ และ 3.การส่งเสริมการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับชุมชนทำแผนยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรฯทุกด้านในเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน, ให้รับรองสิทธิการจัดการตามภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละภูมินิเวศน์ และกระจายการจัดการทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่นรวมทั้งให้ยุติโครงการที่มีผลกระทบกับชุมชน และเปิดเผยข้อมูลแผนงานโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐให้ชุมชนได้รับทราบ
ประธาน คอป. ยังบอกว่า ฝันขององค์กรชุมชนต่อรัฐบาลใหม่คงจะคล้ายๆ กันหมดคือ การได้เห็นรัฐบาลที่จริงใจ แก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าข้อเสนอใดก็ตามหากใช้ฐานของความตั้งใจ จริงใจและจริงจังเป็นที่ตั้ง แม้ไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง แต่อย่างน้อยก็ได้เห็น
“หากแต่ภาพฝันนั้นมักสร้างความหวังแค่ก่อนการเลือกตั้ง ปิดหีบลงคะแนนเมื่อใดข้อเสนอมากมายก็แทบจะปิดตายไปด้วย สุดท้ายชาวบ้านต้องตื่นจากฝันเกือบทุกครั้ง” นับเป็นประโยคทิ้งท้ายของประธาน คอป.ที่ฟังดูน่าสนใจ
ข้ามพ้นนักการเมืองเลือกนโยบายทำได้จริง
และเพื่อเป็นการตอกย้ำว่ากิจกรรมการเลือกตั้งทั่วไปที่ใกล้เปิดฉากขึ้นนี้ จะไม่กลับสู่ร่องรอยเดิมๆ ภาคประชาชน อย่างคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเพื่อกำหนดท่าทีและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและกิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้ง
สุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการ ครป. อ่านถ้อยแถลงดังกล่าว โดยหลักคือ แม้นการเลือกตั้งจะเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาประเทศ แต่พฤติกรรมนักการเมือง เช่น การอนุมัติงบประมาณทิ้งทวนของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนับแสนล้านบาท และความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ คือวงจรความเลวร้ายของการเมืองไทยที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ปัญหาเหล่านี้นักการเมืองและพรรคการเมือง ต้องตอบคำถามกับประชาชนว่าจะแก้ไขใม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร
และเพื่อให้ข้ามพ้นการเมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือนข้อเท็จจริง บ่มเพาะความร้าวฉานให้ร้าวลึกไปในชาติ ภาคประชาชนจะต้องสร้างวาระทางการเมือง กำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติ ทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาความยากจน สวัสดิภาพแรงงานและเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป เรื่องการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรและการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ
โดย ครป.จะประสานงานกับเครือข่ายองค์กรประชาชนต่างๆ เพื่อจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์เลือกตั้งเปิดเวที “เลือกนโยบายพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ทั้งเวทีฟังข้อเสนอและเวทีประชาชนพบพรรคการเมือง พร้อมจัดทำคู่มือการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปประเทศ และจะติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศเกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงในที่สุด
“เพื่อให้เจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชนตรงกับเจตจำนงค์ของการเลือกตั้ง”
และเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นเพียงการสรรหาบุคคลเข้าสู่อำนาจทางการเมืองตามกระบวนการประชาธิปไตย หากแต่เป็นการชี้ชะตาอนาคตการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทย ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤติภายในชาติ การพัฒนาและปฏิรูปประเทศไทยที่จะต้องยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
“จึงวางใจไม่ได้ที่จะให้บุคคลใดเข้าสู่อำนาจโดยไม่ยืนอยู่อำนาจอธิปไตยของประชาชนหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ดังถ้อยแถลงสุดท้ายจากภาคประชาชน.