“ไพบูลย์” เสนอโรดแมปเจรจาวิกฤติความขัดแย้ง
ย้อนถามหากจะรื้อบ้านเป็นเรื่องของ2 คนหรือคนทั้งครอบครัว ย้ำการเจรจาที่ดีต้องชนะด้วยกันทุกฝ่าย แนะรบ.ตั้งโต๊ะถกประเด็นร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะยาว เสนอคุยปัญหาการเมือง-ความยากจน-ความไม่เป็นธรรมในสังคม
วันนี้ (1 เม.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 4 / 2553 หัวข้อ “เนื้อหาที่ควรคุยในวิกฤตความขัดแย้ง” โดยมีผู้แทนจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, ภาคองค์กรประชาสังคม, กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ร่วมเสวนาเพื่อกำหนดเนื้อหาที่ควรเจรจาในวิกฤติความขัดแย้งขณะนี้ ณ ห้องประชุมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้มาจากปัจจัยทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่สะสมจากหลายเหตุ เช่น เศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างสังคม ดังนั้นจึงต้องกำหนดแผนเส้นทางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาร่วมกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต้องสร้างการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน และความยากจนแบบบูรณาการ ขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมโดยการสร้างความเป็นมิตรไมตรีให้เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นประเด็นที่ควรเจรจา
"การเจรจาที่ดีจะต้องทำให้เกิดชัยชนะด้วยกัน ผลของการเจรจาต้องเป็นผลที่ดีต่อทุกฝ่าย เกิดความพอใจร่วมกัน ไม่ใช่เพียงเจรจาเพื่อเอาชนะกัน จึงจะเป็นการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ การเจรจาแบบนี้เป็นสิ่งที่เป็นได้ และควรจะต้องมีบุคลากรทั้งรัฐบาล นปช.มาเจรจาร่วมกันเพื่อทางออก อีกทั้งควรให้หลายฝ่ายมาร่วมเจรจาด้วย" อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว และถามว่า บ้านหลังนี้ถ้าจะ รื้อเป็นเรื่องของคนสองคน หรือของคนในครอบครัว เพราะประชาชนทั้งประเทศยิ่งใหญ่กว่ารัฐบาลและนปช.
สำหรับกระบวนการเจรจาท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ควรต้องมี 1.มีกระบวนการที่ดี ต้องตั้งประเด็นเจรจาร่วมกันก่อน มีการกำหนดรูปแบบของการเจรจาก่อน เป็นต้น 2.ต้องมีทัศนคติและการยอมรับซึ่งกันและกัน ในการที่จะร่วมเจรจา และ 3. ต้องมีการกำหนดเนื้อหาสาระของการเจรจา ซึ่งวิธีการของเรามักข้ามไปข้อที่ 3
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า สังคมไทยตอนนี้เผชิญ 2 วิกฤติใหญ่ คือ 1.วิกฤติความชอบธรรมของสถาบันต่างๆ ในสังคม เช่น ตุลาการที่ถูกตั้งคำถามตลอดถึงความชอบธรรมหรือไม่ในการเข้าสู่อำนาจ และการใช้อำนาจของสถาบันต่างๆ ในสังคมที่ผ่านมาชอบธรรมหรือไม่ 2.วิกฤติความเป็นไม่ธรรมในสังคม เช่น การจัดสรรทรัพยากร การเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมีช่องว่างความไม่เป็นธรรมดำรงอยู่จริงในโครงสร้างสังคมไทยตลอดมา และสถาบันทางการเมืองก็ไม่สามารถตอบสนองปัญหาเหล่านี้ได้ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จำเป็นต้องร่วมกันคิด แก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาวด้วย โดยต้องสร้างจินตนาการร่วมกัน
ส่วนประเด็นเรื่องที่ควรจะเจรจานั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า ต้องพูดถึงการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการเจรจาจะต้องมีข้อยุติ ต้องมีกรอบระยะเวลาที่แน่นอนของการเจรจาอย่างน้อยภายใน 6 เดือน และควรกำหนดเจรจาถึงประเด็นของการผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในกฎหมายต่างๆ และส่งเสริมให้เครือข่ายเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งนี้ สภาและรัฐบาลต้องมีแผนการร่วมแก้ปัญหาที่ชัดเจน ควรมีการปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยอีกครั้งในระยะยาวด้วย และสื่อต้องไม่นำเสนอข่าวที่เป็นการตอกย้ำให้เกิดความรุนแรง
ด้านพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ต้องปล่อยให้เกิดตามกระบวนการ พร้อมมองว่า ความขัดแย้งขณะนี้เกิดจากระบบโครงสร้างของประเทศไทยมีปัญหา เป็นความขัดแย้งในโครงสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม เช่น กรณีการถือครองทรัพยากรทั้งหมดของประเทศที่คนกลุ่ม 20% บนถือครองทรัพยากรมากกว่า 69% ขณะที่คนระดับล่างมีสิทธิถือครองไม่ถึง 1% ทั้งที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประทศ
“การเมืองไทยไม่มีรากเหง้า ถ้าไม่ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองไทยทั้งหมดจะไปไม่รอด ต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย การยุบสภาเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ดังนั้นรัฐบาลต้องพิจารณาแก้ปัญหาทั้งระยะยาวและสั้น ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติด้วย การแก้ปัญหาของประเทศไทยต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นสอนคนไทย และคนไทยจะได้เรียนรู้” พล.อ.เอกชัย กล่าว
ด้านนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เนื้อหาที่ควรคุยกันในการเจรจาที่เสนอคือ อยากให้คืนอำนาจให้ประชาชน เพราะวิธีการยึดอำนาจเป็นการสร้างปัญหาให้ประเทศ เป็นการเร่งให้ประชาชนต้องปฏิวัติอำนาจ เป็นการไม่ให้ประชาชนได้แก้ปัญหาเอง ไม่ให้เกียรติประชาชน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง จึงเรียกร้องให้ยุบสภาให้ประชาชนตัดสินใจ
“ถ้าเราอดทนให้กระบวนการประชาชนได้แก้ไขดำเนินการเอง วันนี้คงดีกว่านี้ ดังนั้นเราต้องอดทนให้ประชาชนได้แก้ปัญหาเองเพื่อให้ประเทศมั่นคงได้ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะฟังเสียงนี้หรือไม่ และสำหรับการเจรจาครั้งที่ 3 นั้นโดยหลักการแล้วสามารถพูด คุยกันได้ แต่ก็ไม่ควรนำเรื่องบนเวทีปราศรัยมาพูดในโต๊ะเจรจา ส่วนเรื่อง 15 วันหรือ 9 เดือนในการยุบสภานั้นการเจรจาต้องไม่ใช่สองข้อนี้แน่ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเสนอ"